Government and Politics in Southeast Asia 2012: Reflection on I not Stupid

http://video.xin.msn.com/watch/video/filmart-i-not-stupid-trailer/1tt14z7t6

ดูแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง จัดมาหน่อยครับ

21 responses to “Government and Politics in Southeast Asia 2012: Reflection on I not Stupid”

  1. พีรภัทร มีแสง says :

    พีรภัทร มีแสง 5441045824

    ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่อง I not stupid สะท้อนความคับข้องใจต่อสภาพสังคมและการเมืองของสิงค์โปร์ ซึ่งเล่าเรื่องราวผ่านเรื่องราวของเด็ก 3 คน ทั้งในชีวิตครอบครัวและเรื่องราวภายในโรงเรียน โดยถ้าหากจะเปรียบเปรย เด็กคือกลุ่มคนต่างๆในสังคมสิงคโปร์ และแม่่คือรัฐ

    แม่และโรงเรียนเปรียบเหมือนรัฐที่ผูกขาดอำนาจและคอยกำหนดว่าสิ่งที่ดีในสังคมว่าคืออะไร เด็กที่เก่งคือเด็กที่เก่งคณิตศาสตร์และอังกฤษเท่านั้น โดยละเลยความสามารถอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมปิดโอกาสและที่ยืนของคนบางกลุ่มในสังคมที่คิดต่างออกไป อีกทั้งรัฐ/แม่ จะจัดสรรสิิ่งที่มีคุณค่าในนิยามของตนให้แก่ประชาชนหรือลูกของตนโดยไม่ให้อีกฝ่ายมีส่วนร่วม ลักษณะเช่นนี้สะท้อนผ่านตัวละครที่เป็นแม่ของTerry ที่เป็นSupermom มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของลูกไปเสียทุกเรื่อง โดยใช้ข้ออ้างว่านั้นคือทำเพื่อลูกหรือดีสำหรับลูก ลูกเองก็ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกเปรียบเหมือนกับการเมืองของสิงคโปร์ที่คอยจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรครัฐบาลSuperman ที่เก่งไปเสียทุกเรื่องจึงอ้างสิทธิที่จะกำหนดว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่มีคุณค่าของสังคม หรือบางครั้งแม่หรือรัฐก็ถึงกับยัดเยียด”สิ่งที่ดี”ด้วยการใช้กำลังหรือการใช้กฎหมายที่เข้มงวด เช่นในกรณีแม่ของก๊กมิน ที่คอยเฆี่ยนตีก๊กมินให้อ่านหนังสือและหาว่าเขาขี้เกียจ ทั้งๆที่จริงแล้วการที่เขาไม่อ่านหนังสือ ไม่ได้หมายถึงว่าเขาขี้เกียจ เพียงเเต่ว่าเขาสนใจและถนัดในการวาดรูปมากกว่า

    Terry ที่ถูกสอนว่า”อย่ายุ่งเรื่องชาวบ้าน” เปรียบเหมือนชนชั้นนำในสังคมสิงคโปร์ กลุ่มคนที่ร่ำรวยจึงไม่จำเป็นต้องไปกลุ่มสนใจคนอื่นๆ อีกทั้ง Terry ยังเป็นคนว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังแม่ทุกอย่าง เปรียบเหมือนคำกล่าวที่ว่า จิตวิญญาณของคนสิงคโปร์ คือความว่านอนสอนง่าย กล่าวคือไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเรื่องของชาวบ้านเพียงแต่ทำตามที่รัฐสั่งก็เพียงพอแล้ว จึงเป็นเสมือนวาทกรรมที่ปกป้องรัฐบาลจากลุ่มคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ Serina พี่สาวของTerry เปรียบเสมือนกลุ่มปัญญาชน ที่สำนึกในสิทธิของตน เขาจึงพยายามทำตัวขบถต่อแม่เสมอ เเต่สุดท้ายก็ถูกแม่ปรนเปรอด้วยรองเท้ากีฬาคู่เดียวเพื่อสยบความไม่พอใจ ซึ่งในภาพยนตร์ก็ล้อกับการที่รัฐบาลเพิ่มเงินปันผลให้แก่ประชาชนก่อนการเลือกตั้ง ก๊กมินเป็นเสมือนกลุ่มตัวเเทนของเสียงส่วนน้อยในสังคมไม่ว่าจะเป็็น ศิลปิน หรือกลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มที่ถูกกีดกันจากนิยามของคุณค่าที่สังคมกำหนดว่าดีหรือไม่ดี มึนฮกเปรียบเสมือนกลุ่มชนชั้นล่างที่เสนอให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทั้งทางฐานะและโอกาสในสังคมสิงคโปร์
    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งต่างๆในครอบครัว ภาพยนตร์ก็เสนออย่างชัดเจนว่าเด็กทั้งสามนั้นก็รักแม่ของตน จึงอาจเปรียบกันได้ว่า ถึงแม้ภาพยนตร์จะเสนอให้เห็นความไม่พอใจ ความคับข้องใจในระบบการเมืองและสภาพสังคมที่เป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ความเกลียด หากเป็นความรักชาติที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

    นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังเสนอปัญหาสังคมซึ่งอาจพิจารณาว่าเป็นปัญหาหรือไม่ก็ได้และเรื่องค่านิยมที่ภาพยนตร์สื่อสารออกมาอย่างล้อเลียน เช่น เรื่องภาษาจีน เรื่องความนิยมในความสามารถของฝรั่งและอคติต่อความสามารถของคนในประเทศ ความงมงายในความเชื่อ เรื่องเเรงงานต่างด้าว(ลูกจ้างของพ่อTerry)

  2. ณัฐณิชา เชาวลิต 5441014324 says :

    I not stupid ผมไม่โง่
    ภาพยนตร์ เรื่อง I not stupid เป็นภาพยนตร์แนว comedy ของสิงคโปร์เข้าฉายในปี 2002 การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างเรียบง่ายมีตัวละครเอกในเรื่อง คือ Terry เป็นผู้เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ แทรกด้วยเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นหลายช่วง เพื่อเป็นเหตุนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรม และความคิดของตัวละครทั้งหลาย
    ถึงแม้การนำเสนอจะออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ comedy ก็ตาม ภาพยนตร์ เรื่องนี้ได้แทรกเนื้อหาทางการเมืองไว้เป็นจำนวนมาก ดิฉันเห็นจุดที่เป็นประเด็นที่เป็นเป้าหมายในการนำเสนอที่เด่นชัดด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 1.รูปแบบความคิดทางการเมืองที่มีต่อรัฐบาลสิงคโปร์
    2. การปลุกกระแสความภูมิใจในชาติพันธุ์แก่ชาวสิงคโปร์
    ในประเด็นแรก เราจะสามารถเห็นประเด็นนี้ได้จากรูปแบบในการปกครองครอบครัวของ Terry ที่มีแม่ที่คอยบงการการตัดสินใจในทุกๆเรื่อง จากคำพูดของ Terry ในหลายๆช่วงตอน ที่กล่าวว่าแม่เปรียบเสมือนรัฐบาล นั้นคือการแสดงออกมาให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ซ่อนรูปแบบของความเผด็จการเอาไว้ภายใต้การปกครองที่บอกว่าให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เห็นได้ในการเปรียบเทียบการแต่งห้อง ของ Selena พี่สาว Terry ที่บอกว่าให้สิทธิ แต่ความจริงก็ไม่ Selena เองก็เป็นการนำเสนอถูกรูปแบบบุคคลที่มีความต้องการตรงข้ามกับรัฐบาล คือต้องการ สิทธิ และ เสรีภาพ ตามที่ตนควรจะได้รับ แต่สิ่งที่เราเห็นนอกเหนือจากอาการต้อต้านของ Selena แล้ว เราจะเห็นได้ถึงอุปนิสัยอย่างหนึ่ง นั่นคือ ยอม เมื่อตนเองได้รับผลประโยชน์ ถึงแม้จะสู้มามากมายก็ตาม เห็นได้จากเหตุการณ์ เมื่อ Selena มีความต้องการเรียกร้องสูง เพื่อที่จะได้เสรีภาพของตน แต่ เมื่อได้รับรองเท้ากีฬาที่ตนเองอยากได้ ความต้องการในสิทธิเสรีภาพเหล่านั้น ก็พลันหายไป และนี่เป็นการแสดงออกถึงกลยุทธของรัฐบาลที่จะควบคุมประชาชนให้เป็นไปตามต้องการ
    ประเด็นต่อมา คือ การปลุกกระแสความภูมิใจในชาติพันธุ์แก่ชาวสิงคโปร์ ซึ่งก็คือ ความเป็นคนจีน และการใช้ภาษาจีน เพื่อสื่อถึง การป้องกันการครอบงำทางวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก ในประเด็นถูกนำเสนอมาตลอดทั้งเรื่อง และหลายหลายรูปแบบ จุดสนใจคือ ในช่วงตอนต้นของภาพยนตร์ ในงานเลี้ยงที่บ้านของ Terry ความรู้สึกถึงบางสิ่งที่ขาดหายไปของ Terry เมื่อ Terry ถูกแขกในงานแกล้ง กลับไม่ต่อสู้ และเป็นฝ่ายยอมแพ้ ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆที่เขาเป็นเจ้าบ้าน เมื่อเรื่องดำเนินมาจนถึงตอนจบ เราจะสามารถเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของ Terry และการได้รู้และเติมเต็มบางสิ่งที่ขาดหายไป นั่นคือการต่อสู้เพื่อตัวเอง จาก ประโยคที่บอกว่า This is my house ให้เกียรติฉันหน่อยได้ไหม my house ที่ว่า ก็คือการเปรียบเป็นประเทศสิงคโปร์ ส่วนแขกที่คอยกลั่นแกล้ง Terry นั้นก็คือ ชาวต่างชาติ ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนในที่สามารถต่อยอดจากประเด็นนี้ได้คือ เรื่องของความอคติที่มักจะเห็นว่าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาติทางตะวันตกนั้น มีความสามารถสูงกว่า ซึ่งในประเด็นนี้เราจะสามารถเห็นส่วนที่เป็นผลกระทบต่อ วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์ เช่น การศึกษา การวัดระดับของความเป็นคนเก่ง กลับเน้นอยู่ที่ปัจจัยของภาษาอังกฤษ หรือความคิดที่ว่า อยากเป็นฝรั่ง – ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาจีน
    นอกจากประเด็นในข้างต้นแล้ว ความต้องการของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีการนำเสนอถึงข้อด้อยของลักษณะนิสัยของคนสิงคโปร์ในตลอดทั้งเรื่อง เพื่อต้องการชี้ชัดพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในชาติ ตัวอย่างเหตุการณ์ในเรื่อง เช่น คนสิงคโปร์มีนิสัยเหมือนปลาสิงคโปร์ คือไม่ยอมเปิดปาก หรือพฤติกรรมการเรียกร้องเสรีภาพของ Selena ก็หายไป เพราะได้ของตามที่ต้องการ ก็เหมือนเป็นการเปรียบเทียบนิสัยของคนสิงคโปร์ที่เรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาล แต่เมื่อ เวลาผ่านไป และตนเองได้รับผลประโยชน์ตอบแทนบางสิ่งความรู้สึก และการเรียกร้องเหล่านั้นก็หายไป และการกล่าวถึงจิตวิญญาณของคนสิงคโปร์ ที่ว่า คนสิงคโปร์เป็นคนว่านอนสอนง่าย ซึ่งก็หมายถึงการที่ไม่มีหัวคิด และถูกชักจูงโดยรัฐบาลได้ง่ายเช่น ด้วยความคิดนี้ ก็สามารถเห็นได้จากตอนที่เด็กทั้งสองหนีโจรลักพาตัว และ มุนฮก พูดว่า ถ้าเราไม่เสี่ยงเพราะกลัวอันตราย ก็ไปไม่ได้ไกลหรอกนะ เหมือนนำให้ออกจากกรอบความคิดเดิมๆที่ถูกตั้งไว้
    ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีการกล่าวถึง เรื่องวิถีชีวิตทั่วไปรวมถึงเรื่องอคติต่างๆ ค่านิยมเดิมๆที่เวลาผ่านไปแต่คนสิงคโปร์ก็ยังยึดถือในเรื่องที่ไม่ควรจะเป็น แต่เลือกที่รับและลดทอนคุณค่าที่ดีงามของตนเองลงไปด้วยเนื้อหา และการใช้ singlish ในการนำเสนอ แทรกอยู่ในตลอดทั้งเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คนสิงคโปร์กลับมาตระหนักถึงความเป็นตัวตน ความเป็นคนเชื้อสายจีน สัญชาติสิงคโปร์ และ เรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพ ความกล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะเรียกร้องเพื่อตนเอง เพื่อประเทศชาติของตนเอง และนำสิ่งที่ตนเองพึงจะได้กลับมา

  3. PRANCHALEE KEEREEWET says :

    ความคิดเห็นต่อภาพยนตร์เรื่อง I not stupid

    ภาพยนตร์เรื่อง I not stupid เป็นความพยายามสะท้อนความคิด และความรู้สึกอัดอั้นในใจของคนสิงคโปร์ทั้งประชาชนในวัยเด็กและประชาชนในวัยทำงานที่มีต่อสภาพสังคมสิงคโปร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ความอัดอั้นที่พยายามนำเสนอจึงทำให้การดำเนินเรื่องเลือกเล่าเรื่องด้วยตัวแสดงที่ไม่มีความสามารถในการปฏิบัติตนตามค่านิยมหรือกรอบของคนสิงคโปร์ได้คือ เป็นตัวแสดงแทนคนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการอยู่ในเกมที่คนสิงคโปร์ใช้กำหนดคุณค่าคนในทางเศรษฐกิจและสังคม

    ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของเด็กสิงคโปร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า เด็กชาวสิงคโปร์นั้นมีทั้งส่วนที่มีไม่มีปัญหาในการเรียนอย่างเข้มงวดกวดขัน และส่วนที่ไม่อาจกวดขันตัวเองเพื่อไล่ตามเด็กที่มีความสามารถทางการเรียนให้ทันได้ การแข่งขันในการเรียนถือเป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์ไม่เพียงแค่ยอมรับ แต่กลับให้ความนิยมอย่างมากอีกด้วย เห็นได้จาก การที่ผู้ปกครองจะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับผลการเรียนของเด็กมาพูดถึงตลอดทั้งเรื่อง

    นัยของภาพยนตร์น่าจะพยายามสื่อถึงวิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตจากภาพยนตร์ได้ 4 ประการคือ

    ประการแรก การให้ความสำคัญกับการแข่งขันทางการเรียนของเด็กวัยเรียน ความกดดันจากการแข่งขันในการเรียนทำให้เกิดการแบ่งแยกเด็กสิงคโปร์เป็นเด็กที่อ่อนด้านวิชาการกับเด็กที่เรียนเก่งถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด การจัดประเภทคนตามความสามารถทางการเรียนเป็นผลมาจากความพยายามพัฒนาประเทศให้มีความเป็นเลิศทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ การบีบให้คนทุกคนต้องมีความสามารถทางวิชาการสะท้อนการไม่ให้โอกาสเด็กได้แสดงความสามารถในด้านอื่นๆ เช่น ความสามารถทางด้านศิลปะ ดนตรี หรือแม้แต่กีฬาในภาพยนตร์ก็ไม่ปรากฏให้เห็นเลยว่ารัฐบาลสนับสนุนให้เด็กสิงคโปร์แสดงศักยภาพด้านอื่นๆนอกเหนือจากการเรียนทางวิชาการ จะเห็นได้ว่าความเป็นเผด็จการแผ่อิทธิพลเลยมาถึงด้านการศึกษาของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่โหดร้ายแต่เป็นความจริงที่ชาวสิงคโปร์เผชิญอยู่ แม้แต่การศึกษายังเป็นเผด็จการ เด็กสิงคโปร์จึงต้องพยายามกวดขันการเรียนของตนเองอย่างยิ่ง เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคมได้เลยหากปราศจากความเป็นเลิศทางวิชาการในโรงเรียน

    ประการที่สอง ความเป็นคนว่านอนสอนง่ายของชาวสิงคโปร์ทำให้คนสิงคโปร์กลายเป็นผู้ที่ไม่กล้าใช้เสรีภาพในการแสดงออก ในประเด็นนี้ ความขาดแคลนเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวสิงคโปร์ทั้งใน ระดับครอบครัว โรงเรียน และสังคมของคนทำงาน การเป็นผู้ที่ว่านอนสอนง่ายทำให้คนสิงคโปร์บางส่วนรู้สึกอึดอัดกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการแสดงออกเช่น ด้วยสถานภาพที่ต่ำกว่า ลูกไม่อาจที่จะแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของพ่อแม่ได้ เด็กไม่อาจโต้เถียงเพื่อยืนยันชุดความจริงของตนเองต่อผู้ใหญ่ได้ สุดท้ายคนสิงคโปร์จึงต้องเลือกที่จะเชื่อฟังผู้ที่มีอำนาจมากกว่าเสมอเพราะไม่ต้องการให้ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ หรือการดำเนินชีวิต

    ประการที่สาม ความพยายามหวนกลับไปหาอดีตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน จากการที่ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางที่คนสิงคโปร์ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันจนเป็นปกติ การมุ่งแข่งขันเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และการรับเอากระแสหลักในเรื่องต่างๆในสังคมจากตะวันตกเข้าสู่สังคมสิงคโปร์ ทำให้วิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ดูคล้ายกับคนตะวันตกเข้าไปทุกขณะ คนสิงคโปร์จำนวนมากที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของภาษาจีนซึ่งเป็นภาษารากเหง้าของคนจีนที่อาศัยในสิงคโปร์จึงมีความต้องการอย่างยิ่งให้เด็กๆชาวสิงคโปร์ได้ศึกษา เข้าใจ และสามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารได้ นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว วัฒนธรรมจีนยังเป็นเรื่องที่คนสิงคโปร์พยายามรื้อฟื้นและผลักดันให้วัฒนธรรมจีนได้รับการให้คุณค่าที่สูงขึ้นเพื่อไม่ให้อารยธรรมที่ดีงามของชาวจีนต้องสูญหายไปกับการพัฒนาของสิงคโปร์

    ประการสุดท้าย มุมกลับของวิธีคิดแบบชาวสิงคโปร์ ในตอนท้ายของภาพยนตร์ สิ่งที่สะท้อนความผิดพลาดของการให้คุณค่าของคนที่ความสามารถทางการเรียน หรือสถานะทางเศรษฐกิจข้อสำคัญได้ปรากฏขึ้น เมื่อคนกลุ่มที่ถูกจัดไว้ในประเภทคู่แข่งที่ไร้ประสิทธิภาพเช่น เด็กเรียนอ่อนได้แสดงให้เห็นถึงข้อดีในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่างของผู้ใหญ่เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้สังเกตเห็นว่า ผู้ใหญ่อาจไม่ใช่คนดีทุกคนไป หรือการเอาตัวรอดได้จากสภาวการณ์ที่คับขันโดยความสามารถในการจำและวาดภาพคนร้ายได้ ทั้งๆที่ไม่มีความสามารถทางวิชาการเลย หรือแม้แต่การที่เด็กเลือกให้หรือไม่ให้ความช่วยเหลือใครก็ตามด้วยการตัดสินใจของตนเอง การแสดงคุณค่าจากความคิดและความสามารถด้านอื่นๆของคนสิงคโปร์ที่นอกเหนือไปจากความสามารถทางการเรียนของเด็กและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจตามแบบตะวันตกของผู้ใหญ่เป็นภาพสะท้อนความต้องการดิ้นออกจากกรอบการพัฒนาของคนที่ไร้ประสิทธิภาพในกรอบการพัฒนากรอบเดิมของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกรอบที่ทำร้ายคนจำนวนหนึ่งให้ถูกกรอบกีดกันจนตกขอบการพัฒนาและไม่อาจได้มีที่ยืนในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจได้

    นางสาวปราญชลี คีรีเวช 5341036024

  4. THIPAKORN BUASOONTORN says :

    I not stupid : Singapore
    สังคมสิงคโปร์หากมองจากภายนอกแล้วเป็นสังคมที่มีความเป็นระเบียบ และมีความเป็นอยู่ที่ดี ประชากรมีคุณภาพ แต่หากมองผ่านจากหนังเรื่องนี้แล้ว จะทำให้มองเห็นอีกด้านหนึ่งของสังคมสิงคโปร์ เป็นสังคมที่มีความคาดหวังในประชากรสูง มีการให้ค่านิยมกับการศึกษาสูงจนทำให้โรงเรียนกลายเป็นสภาพเรือนจำที่ทุกคนต้องจำยอมตามความคาดหวังของสังคม มีการแบ่งชนชั้นวรรณะตามสถาน

    ค่านิยมทางด้านการศึกษาของสิงคโปร์เป็นสิ่งที่ถูกผลิตซ้ำจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากในหนังมีการนำเสนอความแตกต่างในการถูกตีค่าของคนด้วยการศึกษา ทั้งตัวเอกที่เป็นเด็กที่เรียนในห้องที่คนมองว่าอ่อนที่สุดในชั้น หรือแม้กระทั่งตัวผู้ใหญ่เองที่ไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งได้ เพราะว่าไม่ได้จบปริญญาจากมหาวิทยาลัย และเมื่อความคาดหวังทางด้านการศึกษาสูง จึงทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานและสายงานมีอัตราการแข่งขันที่สูงตามไปด้วย คนที่มีการศึกษาสูงกว่าและมีความน่าเชื่อถือจากสังคมมากกว่าจะได้รับการยอมรับในการทำงานในตำแหน่งที่สูงมากยิ่งขึ้น

    หนังพยายามจะชี้ประเด็นเรื่องความเป็นระเบียบของสังคม และการเชื่อฟังรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การทำงานอย่างหนักและอยู่บนความคาดหวังของสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่แค่เพื่อตนเองเท่านั้น ซึ่งจะดูขัดแย้งกับหลักการของการมีเสรีภาพในปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศสากลให้ความสำคัญ และสภาพสังคมของสิงคโปร์อาจจำยอมกับสภาพการณ์ดังกล่าวที่เป็นอยู่และภาคภูมิใจในการเป็นเอกภาพของสังคม และเชื่อมั่นในการชี้ทางของรัฐที่พยายามจัดโครงสร้างทางสังคมและค่านิยมให้สังคมสิงคโปร์อยู่ตลอดเวลา

    สังคมสิงคโปร์ที่ปรากฏจากหนังพยายามจะสื่อถึงทัศนคติของคนในสังคมที่มีการมองแบบเหมารวมทั้งหมด มองว่าเด็กห้องต่ำสุดต้องโง่เสมอไป มองว่าเด็กไม่เรียนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์โง่เสมอไป มองว่าคนที่เข้ามาทำงานสายด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบอย่างสูงสุด และด้อยศักยภาพในการทำงาน การมองแบบนี้เป็นทัศนคติที่มีความเด็ดขาดในสังคมสิงคโปร์ที่รัฐหรือสังคมพยายามจะใช้ในการจัดระเบียบสังคมและดึงศักยภาพคนในสังคมของเขาออกมาใช้อย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าการมองแบบเหมารวมจะเป็นความคิดที่มีคับแคบมากเกินไปในความคิดของเสรีนิยม แต่ในฐานะกรอบแนวคิดทางการเมืองการปกครองของสิงคโปร์ย่อมมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สิงคโปร์นำเสนอเป็นจุดเด่นมาตลอด และหนังเรื่องนี้พยายามนำเสนออีกด้านหนึ่งของแนวความคิดในสังคมสิงคโปร์ว่าไม่ได้เป็นสังคมที่มีการสะท้อนถึงความสุขของสังคมอย่างเต็มที่ในมุมมองของเสรีนิยม ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงทำออกแสดงถึงจุดยืนขั้วตรงข้ามกับความคิดและแนวทางการปกครองของผู้นำสิงคโปร์ และให้ประชาชนผู้ชมภาพยนตร์นำมาวิเคราะห์และเป็นผู้ตัดสินใจแนวทางที่สมควรและเหมาะสมแก่สังคมตัวเองมากที่สุด

    ……………………
    ทิพากร บัวสุนทร
    534 10222 24

  5. Akesyan says :

    นายเอกลักษณ์ ไชยภูมี 524 10600 24
    นิสิตปริญญาตรี ภาควิชาการปกครอง
    คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    บทสะท้อนจากการภาพยนตร์ “I Not Stupid”

    ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนสภาพสังคม และการเมืองของประเทศสิงคโปร์ออกมาได้เป็นอย่างดีผ่านการเสียดสี (satirical) ปัญหาของประเทศสิงคโปร์ได้อย่างแหลมคม โดยปัญหาประการหนึ่งที่ภาพยนตร์ได้หยิบยกมาเห็นจะได้แก่บทบาท และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อพลเมืองสิงคโปร์ซึ่งมีลักษณะที่เป็นไปในแนวทางของ “ผู้รู้” เสมือนหนึ่งว่ารัฐบาลนั้นเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นผลประโยชน์สาธารณะอันเหมาะสมสำหรับประเทศชาติ แนวคิดดังกล่าวนี้แทบจะไม่มีความแตกต่างกับวิธีคิดเรื่อง “เหตุผลแห่งรัฐ” (Raison d’État) ที่เกิดขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 15 ของยุโรป และมีอิทธิพลต่อวิธีคิดในการดำเนินนโยบายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

    ทว่าการอ้างเหตุผลแห่งรัฐของสิงคโปร์นั้นหลายครั้งก็มีลักษณะที่ไปลิดรอน และจำกัดอำนาจอันพึงมีของประชาชนในระบอบที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนสิงคโปร์หาได้มีสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งหากเป็นในประเทศฝรั่งเศสแล้ว สิทธิที่กล่าวมานี้ถือเป็นสิทธิแห่ง “มนุษยชน และพลเมือง” ที่มิอาจขาดหายไปได้ในระบอบการปกครองสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบเสรีประชาธิปไตย อนึ่ง แม้ประชาชนสิงคโปร์จะไม่อาจมีสิทธิ เสรีภาพบางอย่างได้อย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลเองก็ใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคม เพื่อช่วยลดแรงเสียดทาน และการต่อต้าน ตลอดจนความไม่พอใจของประชาชนได้อย่างแข็งขัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การอ้างความชอบธรรมของ “เหตุผลแห่งรัฐ” ของรัฐบาลสิงคโปร์ยังสามารถดำรงอยู่มาได้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

    นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องของระบบการศึกษา ที่แบ่งแยกนักเรียนออกตามความสามารถ (tracking system) นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่ทั้งไทย และสิงคโปร์ต่างก็ต้องเผชิญอย่างเหมือน ๆ กัน เพราะการจำแนกนักเรียนด้วยวิธีการดังกล่าว ด้านหนึ่งอาจทำให้ระบบสามารถจำแนกบุคลากรที่มีความสามารถที่จะก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติในอนาคตได้ดีกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่เท่าเทียมกันในสถานศึกษา ศึกอาจนำไปสู่การกีดกันการแสดงศักยภาพของเด็กนักเรียน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงศักยภาพในเชิงวิชาการเท่านั้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทั้งสองประเทศ (ไทย และสิงคโปร์) นั้นหาได้วางรากฐานการศึกษาอยู่บนหลักของ “การศึกษาเพื่อสร้างคนไปเป็นพลเมือง” (civic education) อย่างแท้จริง เพราะทั้งสองประเทศต่างก็ได้พยายามใช้การศึกษามาเป็นเครื่องมือในการสร้าง และกำหนดกรอบคิดให้แก่ชนชั้น “ผู้ถูกปกครอง” (ไม่ใช่ “พลเมือง”) เพื่อให้สามารถคงสถานภาพ (status quo) และชนชั้นที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ต่อไปอย่างราบรื่นนั่นเอง

  6. THYP P. BHAVABHUTANON NA MAHASARAKARM says :

    สิงคโปร์มีทรัพยากรน้อยมาก ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีอิทธิพลหรือเป็นท่อน้ำเลี้ยงของประเทศสิงคโปร์เป็นอย่างมาก กล่าวถึงในสังคมทุนนิยมจะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีพลังอำนาจในการตัดสินใจซึ่งมักอยู่ในมือของกลุ่มทุน ซึ่งนอกเหนือจากการมีอำนาจในการตัดสินใจด้านการลงทุนการผลิตแล้ว ยังมีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองผ่านการให้ผลประโยชน์ร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและควบคุมกลไกรัฐสภา วางแผน และสร้างเงื่อนไขทั่วๆไปขึ้นมา เพื่อเก็บทุกๆคนเอาไว้ในที่ทางของพวกเขาเพื่อจัดการกับผู้คนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลัทธิทุนนิยมได้แบ่งแยกสังคมออกเป็น 2 ชนชั้นอย่างชัดเจนมากขึ้น นั่นคือ ชนชั้นปกครอง และ ชนชั้นแรงงาน หรือ ชนชั้นผู้กดขี่ และ ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ แต่อย่างไรก็ดีในหมู่นายทุนก็มีการแข่งขันเพื่อที่จะไปอยู่บนยอดของทุนหากใครพลาดก็จะถูกผลักลงมาร่วมชะตากรรมกับนายทุนน้อย ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานในท้ายที่สุด ชนชั้นผู้ปกครองแท้จริงจะปกครองในลักษณะที่อำพราง โดยมีตัวแทน เช่น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลแต่ครอบครองทุนน้อยให้มีความสัมพันธ์กับส่วนที่เหลือของสังคม เพื่อง่ายต่อการกำหนดชะตาของผู้คน รัฐกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่ใช้ครอบครองกลไกรัฐสภาเพื่อผูกขาดอำนาจทางวาทกรรมประชาธิปไตย ดังนั้น ลัทธิทุนนิยมจึงสร้างภาพหรือสิ่งแสดงทางด้านประชาธิปไตยขึ้นมาในแบบที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตัวแทนแต่ไม่เคยมีสิทธิในการตัดสินกิจการใดๆเลย หากแต่ลัทธิทุนกลับสร้างสถาบันต่างๆมาเพื่อตัดสินใจแทนและให้เราดำรงไว้ซึ่งความไม่แตกแถวและธำรงรักษาระบบทุน เช่น สถาบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของการอวดอ้างซึ่งความเป็นประชาธิปไตย แท้จริงแล้ว ศาลใช้กฏหมายเพื่อตัดสินว่าการปล้นธนาคารเป็นเรื่องที่มีโทษร้ายแรง ในขณะที่การขโมยของกันในชานเมืองจะมีโทษที่เบาลงมา เป็นต้น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันการทำงาน ล้วนแต่เป็นเครื่องหล่อหลอมการควบคุมความคิดคือการฝึกคนไม่ให้คิด พวกเราไม่ได้ถูกสอนว่าจะพัฒนาความคิดเห็นอย่างไรแต่ความคิดเห็นทั้งหลายถูกกรอกให้เรานั้นคือบทบาทของสื่อ ทั้งสื่อมวลชน และ สื่อเชิงสถาบัน เราถูกครอบครัวสอนให้เชื่อฟังว่าเราควรจะไปเป็นผู้เป็นคนที่ดี ได้ก็โดยการไปโรงเรียน ที่โรงเรียนก็สอนให้อยู่ในครรลองที่ถ้าคุณทำดีที่โรงเรียนคุณก็จะมีชีวิตดีได้ทำงานดีดีเมื่อเราไปทำงานเราก็จะแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งเงินทองความมั่นคงและสิทธิพิเศษ ยิ่งก้าวหน้าไปสูงขึ้นก็ยิ่งได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้นทั้งๆที่รู้ดีว่าต้องขายชีวิตให้กับระบบแต่ยิ่งกระหายเข้าไปใกล้สู่ความเป็นคนสูงสุดพวกเราก็จะยิ่งส่งเสริมและสนับสนุนระบบมากขึ้นอย่างมีสำนึก ทั้งๆที่จุดที่เราไปยืนอยู่นั้นมักเกิดจาการถูกคัดเลือกโดยชนชั้นปกครอง และในท้ายสุดมนุษย์ทุนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นโดยสมบูรณ์แบบจากสังคมที่ถูกครอบงำโดยวาทกรรมทุนนั้นจึงไม่มีความลังเลใจที่จะใช้เครื่องมือทุกชนิดเพื่อธำรงรักษาระบบเพื่อความมั่นคงในสถานะของเราเอาไว้ ทุนเลือกที่จะมีพื้นที่ยอมรับให้กับคนที่เชื่อฟังและแข็งแกร่ง เท่านั้น โดยสร้างความแปลกแยกในสิ่งที่ไม่ดำเนินไปตามเส้นทางของระบบที่วางไว้เช่น ครอบครัวและการกดขี่ผู้หญิงภายใต้ลัทธิทุนนิยม ผู้หญิงมักถูกกำหนดให้เป็นช้างเท้าหลังไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ผู้หญิงยังคงถูกนิยามความเป็นแม่ซึ่งเราเชื่อว่ามีความอ่อนด้อยกว่าผู้ชายที่มีความเป็นพ่อเป็นผู้ที่ถูกเชื่อว่าแข็งแกร่งอยู่วันยังค่ำ ครอบครัวถือเป็นทุนสำรองทางด้านแรงงานของลัทธิทุนนิยม ผู้หญิงสามารถถูกดึงเข้ามาสู่กำลังแรงงานได้ ครอบครัวจึงมีหน้าที่สำคัญในการธำรงรักษาการแบ่งแยกทางชนชั้นเอาไว้ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่า คนรวยจะส่งต่อความรวยของพวกเขาต่อไป และคนจนก็จะส่งผ่านความจำยอมของตนต่อไปเรื่อยๆ การเกิดขึ้นในรูปแบบของลักษณะการรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นบ่อนทำลายเครื่องไม้เคครื่องมือของระบบบทุน หากมีรักร่วมเพศก็จะไม่สามารถสืบทอดครอบครัวและผลผลิตของมนุษย์เพื่อมาอยู่ในระบบได้ การรักร่วมเพศนั้นจึงถูกกีดกันและกำหนดคุณค่าของมันว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และผิดศีลธรรมโดยอาศัยความช่วยเหลือจากความเชื่อของศาสนา(ตามความเห็นของข้าพเจ้า ศาสนามักเป็นเกราะด่านสุดท้ายในจิตใจของมนุษย์เพราะเบื้องหลังความเชื่อของปัจเจกที่มีต่อศาสนาแล้วก็ไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่ความคิด จะมีก็เพียงจิตที่ต้องการการยึดเหนี่ยวบางอย่างไว้ เมื่อไม่มีศาสนาก็จะทำให้จิตใจอ่อนแอซึ่งง่ายต่อการถูกปลูกฝังความคิดอย่างอื่นให้ แต่ในขณะดียวกันที่มีศาสนาก็จะเชื่อตามศาสนาไปเสียทุกเรื่อง ปัญหาคือการที่ปัจเจกถูกวาทกรรมผลิตซ้ำทางความคิดจนเชื่อว่าสิ่งนั้นคือความคิดของเขาเองและก่อร่างเป็นชุดความจริงของเขาขึ้นมาผ่านความเข้าใจทั้งที่ไม่ใช่ความเข้าใจของเขาเลย) โดยกล่าวอ้างว่า รักต่างเพศเท่านั้นที่เป็นธรรมชาติอีกประเด็นหนึ่ง คือ การดำรงไว้ซึ่งเชื้อชาติสีผิว และการแปลกแยกผู้คน มายาคติที่เราเห็นกันในชีวิตปัจจุบันคือ คนขาวแต่งตัวดีคือคนรวย คนดำแต่งตัวโทรมคือคนจน นั่นคือความเชื่อด้านมโนทัศน์ที่ทุนผลิตสร้างให้เรา ดังนั้นการย้ายถิ่นอพยพหรือการไขว่ขว้าการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตนเองสามารถบรรลุถึงการได้รับการยอมรับ นั้นสามารถสร้างกำไรให้กับทุนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งๆที่ต้องแลกกับการขายแรงงาน สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ของตน จากที่เคยมีความต้องการบริโภคเพื่อความอยู่รอด ลัทธิทุนนิยมได้ลดทอนจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราแต่ละคนลงให้เหลือเพียงการบริโภคสิ่งที่สังคมหลอกล่อว่าความสุขที่ซื้อหาได้ สื่อโฆษณามีหน้าที่ขายวัตถุและบริการที่เรียกว่าความสุข และป่าวร้องอย่างสรรเสริญเมื่อคนผู้นั้นเข้าถึงการบริโภคเหมือนอย่างคนอื่นในขณะที่ที่ตราหยามเหยียดผู้ที่ถูกนิยามว่าผิดแปลกจากระบบและไม่สามารถเข้าถึงการบริโภคนั้นๆเหมือนอย่างคนอื่นที่ถูกนิยามว่าเป็นคนปกติของสังคมอีกด้วย “ลัทธิทุนนิยมไม่เพียงเพิ่มพูนความยากจนสู่การเติมเต็มความร่ำรวยให้มากขึ้นเท่านั้น มันยังเพิ่มเติมความโดดเดี่ยวและส่งเสริมความเชื่อฟังและการว่านอนสอนง่ายให้มากขึ้นด้วยตัวคนเดียว การแข่งขันกับคนอื่นๆ สำหรับการทำคะแนนที่โรงเรียนและหน้าที่การงาน ผู้คนทั้งหลายกลายเป็นพวกตะกละพวกที่มีจิตใจละโมบ มีอคติและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ด้วยเหตุนี้หนังเรื่องนี้จึงถูกผลิตออกมาผ่านการใช้ทุนนิยมเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิดที่ต้องการความอยู่รอดใต้ระบบทุน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ผู้สร้างมีหนทางในการแสดงออกหรือสร้างกระบอกเสียงพื้นที่ทางความคิดของตนเองโดยผู้สร้างพยายามถ่ายทอดความรุนแรงทางความคิดที่ขัดแย้งออกมาในรูปแบบของความไม่รุนแรงทางความคิดที่ขัดแย้งโดยนำเสนอผ่านตัวละคร ประสบการณ์ เรื่องราวของ เด็ก ที่เป็นผลผลิตของครอบครัวและโรงเรียน ครอบครัวและโรงเรียนชาวสิงคโปร์ ที่เป็นผลผลิตของรัฐบาล โดยแบ่งแยกด้วยภาวะทางชนชั้นทางสังคมผ่านชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกลางหรือนายจ้างกับลูกจ้างประเด็นด้านวัฒนธรรมที่น่าสังเกตคือการเชิดชูความรู้สึกร่วมของคนสิงคโปร์ด้วยภาษาจีน ในเรื่องสื่อว่าภาษาจีนสำคัญ เป็นต้นกำเนิดของพวกเขา ถ้าเขาไม่เข้าใจภาษาจีนเขาย่อมไม่เข้าใจตัวเขาเอง สุดท้ายลงเอยด้วยความสำเร็จของหมูแผ่นภาษาจีนเช่นนี้ชาตินิยมสิงคโปร์คืออะไร หนังยังสื่อถึงวัฒนธรรมตะวันตกที่รุกล้ำเข้ามาในสิงคโปร์แต่ หากเขานิยามความรู้สึกร่วมของสิงคโปร์ว่าคือภาษาจีนแล้วเช่นนี้ถือว่าสิงคโปร์เป็นคนจีนโพ้นทะเลหรือไม่ ในเมื่อการปกครองก็ไม่ค่อยจะแตกต่างกับประเทศจีนเท่าไหร่นักในเรื่องของ”การควบคุมไม่ให้คนคิด” สุดท้ายในหนังกล่าวประเด็นทิ้งท้ายเล็กๆในหน่อคิดเรื่องการขัดขืนหรือการไม่เชื่อฟังรัฐบาลสิงคโปร์ไว้ผ่านเจ้าเด็กอ้วนว่า“หากเราล้มแล้วเราไม่ลุกขึ้นสู้มันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเราก็จะไม่ก้าวไปข้างหน้า” และ “เรามีสิทธิปกป้องตัวเองในบ้านของเราเอง” ตรงนี้แสดงถึงความไม่ยินยอมต่อวัฒนธรรมตะวันตกแต่ยินยอมต่อวัฒนธรรมจีน หรือความไม่ยินยอมต่อรัฐบาลสิงคโปร์ คำถามคือ “ผมไม่โง่” สะท้อนอะไร เป็นการที่ปัจเจกถูกกำหนดคุณค่าจากรัฐบาลผ่านทางครอบครัวและสังคมให้เขาเป็นคนโง่เอง หรือเป็นการที่ปัจเจกกำหนดคุณค่าตัวเองผ่านการเปรียบเทียบจากสังคมจนเขาเชื่อว่าเขาโง่จริงๆ คือเขากำหนดตัวเองผ่านสังคม หรือ สังคมกำหนดเขากันแน่ เด็กผอม2คนเป็นตัวแทนของความเข้าใจที่ว่าตัวเองโง่แต่ไม่ยินยอมที่จะรับมันอย่างสนิทใจเนื่องด้วยเขาคิดว่ามันมีสิ่งที่เขาควรทำมากกว่าสิ่งที่คนอื่นมาบอกให้เขาต้องทำ ส่วนพี่สาวของเด็กอ้วนเป็นตัวแทนของการไม่ยินยอมต่ออำนาจแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้จักการประนีประนอมทางอำนาจเพื่อความอยู่รอดของตนเองเช่นกัน ครูเป็นตัวแทนของการหล่อหลอมความคิดได้ดีที่สุด ทั้งๆที่ครูคนใหม่เป็นผลผลิตของรัฐบาลสิงคโปร์เช่นกันแต่เธอกลับเชื่อว่านักเรียนของเธอไม่โง่แตกต่างจากครูเก่าๆคนอื่น ท้ายสุดนี้หนังต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสถาบันต่างๆในการผลิตชุดความคิดให้กับประชากรในประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ดีมีทั้งคนที่เชื่อโดยไม่คิด แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่คิดแล้วไม่เชื่อ จึงเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนชีวิตประจำวันและปัญหาของเด็กทั่วไปในทุกสังคมทุนนิยมและเสียดสีการควบคุมประชาชนของรัฐบาลสิงคโปร์ไว้อีกด้วย.

    พงษ์ผกา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม 5241027324

  7. ถลัชนันท์ เอ่งฉ้วน says :

    ความรู้สึกต่อภาพยนตร์เรื่อง I NOT STUPID

    สำหรับชื่อเรื่อง I NOT STUPID (ก่อนดูภาพยนตร์) ฉัน . ..ไม่โง่ ให้ความรู้สึกว่า การให้นิยามความโง่ ไม่ได้มีแบบเดียว อย่างน้อยคงมี 2 นิยาม นั่นคือ นิยามความโง่ในแบบของเธอ/สังคม และ นิยามความโง่ในแบบของฉัน โดยคนทั่วไปหรือสังคมมักจำแนกความโง่จากเรื่องของการเรียน การศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือ คนโง่ คือ คนที่สอบได้คะแนนน้อย เรียนไม่เก่ง เกรดไม่ดี เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นที่มาของฉากภาพยนตร์ที่เลือกโรงเรียนประถมซึ่งถือเป็นโรงเรียนขั้นพื้นฐานที่เป็นประตูไปสู่การศึกษาระดับต่อไปอีก หมายความว่าสิ่งที่บ่มเพาะหรือยัดเยียดให้เด็กไปในระดับนี้จะติดตัวไปในอนาคตได้ง่ายกว่าที่จะมายัดเยียดหรือใส่ข้อมูลให้ในตอนโต ดังสุภาษิตที่ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แก่ดัดยาก และแน่นอนว่าย่อมมีหน่วยสถาบันทางสังคมอื่นปรากฏให้เห็นอยู่ในเรื่องด้วย คือ ครอบครัว แวดวงการทำงาน ที่ยังสามารถสะท้อนไปสู่อีกมิติหนึ่งที่ทำหน้าที่ควบคุมสังคมอยู่คือ รัฐ ได้ด้วย

    หลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบแล้ว สิ่งแรกที่ข้าพเจ้ารู้สึกคือ เพราะอะไรประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ และเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างสิงคโปร์ประสบกับปัญหาที่คล้ายกับประเทศไทย และประเทศอื่นๆ? หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สภาพสังคม ค่านิยม หรือเป็นไปได้หรือไม่ที่ทั้งสองเรื่องสามารถย้อนแย้งกัน กล่าวคือ พัฒนาเศรษฐกิจ แต่ สิทธิเสรีภาพกลับลดลง (เช่น การเลือก/การมีทางเลือกในชีวิตของตนเอง) ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นที่ภาพยนตร์พยายามสะท้อนให้เห็นว่า เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม หากเราดูลักษณะสังคมที่มี กฎระเบียบค่อนข้างเยอะ กฎหมายที่เข้มงวด หรือวิธีการรักษาอำนาจรัฐของประเทศสิงคโปร์นั้น ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า โรงเรียนก็เป็นเสมือนการควบคุมสังคมของรัฐอีกวิธีหนึ่ง และซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม (ไม่มีการขัดขืน ยอมให้ถูกควบคุมโดยที่ไม่รู้ว่ากำลังถูกควบคุมอยู่) ผ่านการให้คุณค่าของสังคมที่มีอย่างยาวนาน เพราะเราสามารถเห็นได้จากตัวแสดงผู้ใหญ่ในเรื่องซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่นที่โตมาจากการถูกควบคุมเหมือนตัวละครเด็กในเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการให้คุณค่านี้ (ค่านิยม เช่น ต้องได้คะแนนดี ต้องอยู่ห้องเด็กเก่งนะถึงจะมีอนาคตที่ดี ต้องทำตามแม่นะ ห้ามเถียง ห้ามยุ่งเรื่องของคนอื่น ) ถูกถ่ายทอดไปรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่รู้ตัว และได้ผลอย่างมากต่อรัฐในการควบคุมสังคมเช่นนี้

    อีกประการหนึ่งที่เราสามารถเห็นได้จากภาพยนตร์อีกเรื่องคือ สิ่งที่บอกตัวตนของคนสิงคโปร์คืออะไร ? จะสามารถสังเกตได้ว่าในภาพยนตร์มีการใช้ภาษาจีนกลาง และซิงลิช หรือภาษาอังกฤษในแบบฉบับของคนสิงคโปร์นั่นเอง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีหลากหลายวัฒนธรรม โดยภาษาทางราชการ 5 ภาษาด้วยกัน คือ ภาษามาเลย์ จีนกลาง ทมิฬ และอังกฤษ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมให้ประชาชนพูด 2 ภาษา โดยเฉพาะจีนกลาง ในขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่องานและในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำมาสู่คำถามที่ตั้งไว้คือ ความเป็นตัวตนของคนสิงคโปร์คืออะไร ? ซิงลิช ? เป็นต้น

    นอกจากนี้ หากเราเปรียบเทียบว่า เด็กในโรงเรียน คือ คนสังคม, ผู้ปกครอง พ่อ แม่ อาจารย์ คือ ผู้ถืออำนาจรัฐ แล้วนั้น ทำให้เราอาจทำความเข้าใจภาพสองภาพที่สะท้อนไปมา และสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามเสนอ กล่าวคือ การปรับเปลี่ยนทัศนะของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ต่อเด็ก การให้คุณค่าใหม่ต่อความหมายของการเป็นคนโง่ ในทางกลับกัน เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีสิทธิที่จะแสดงความคิด พูด ที่สามารถนำไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์ หรือสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ได้ด้วย และน่าจะเป็นหนทางออกสำหรับปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ฉันใดฉันนั้นบทบาทของรัฐและสังคมก็เช่นเดียวกัน

    นางสาวถลัชนันท์ เอ่งฉ้วน
    5341020024

  8. น.ส.จิตอนงค์ สารภีเพ็ชร 5241003224 says :

    I’m not stupid (ผมไม่โง่) คำปฏิเสธนี้ย่อมมีนัยยะ แสดงถึงความแตกต่างจากความเป็นจริงที่คนอื่นมอง หรือพูดถึงไม่มีใครที่จะรู้จักเรามากกว่าที่เราจะรู้จักเอง นอกจากว่าเราจะไม่เห็นคุณค่าตัวตนของเราอยู่ แต่การที่สังคมหรือผู้อื่นมองเราว่าเป็นคนอีกแบบหนึ่งนั้น เสมือนเป็นการปักใจเชื่อหรือคล้อยตามแนวความคิดหรือชุดคุณค่าของสังคมกระแสหลักของสังคมอยู่ โดยไม่มองหรือเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้แสดงความสามารถอื่น อีกทั้งเป็นการกดทับจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ภาพยนตร์ I’m not stupid ได้แสดงเรื่องราวการถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจของสังคมสิงคโปร์ แม้ว่าทางนิตินัยจะเป็นประชาธิปไตย แต่ในทางพฤตินัยนั้นกลับเป็นเผด็จการ ที่ต้องการให้ประชาชนทำตามที่รัฐสั่งเพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐ แต่วีการที่จะบรรลุนั้น กลับทำให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมกลับไม่สามารถที่จะทำตามได้ อีกทั้งยังถูกสังคมประณามว่าเป็น คนแปลกแยกหรือแตกต่างจากความคาดหวังของสังคม
    เนื้อหาภาพยนตร์ได้เสียดสีทัศนคติของสังคมและระบบการศึกษาในสิงคโปร์ ที่วัดความสามารถนักเรียนผ่านวิชาการ ในขณะที่มีนักเรียนอีกหลายคนที่ไม่มีความสามารถทางด้านวิชาการแต่กลับมีพรสวรรค์ด้านอื่น เช่น ศิลปะ เป็นต้น เนื้อเรื่องอธิบายสามครอบครัวที่มีพื้นฐานและทัศนคติที่แตกต่างกัน โดยผ่านนักเรียนสามคน ได้แก่ Terry Khoo, Liu Kok Pin และ Ang Boon Hock ทั้งสามอยู่ห้องเด็กที่เรียนไม่เก่งที่สุด โดยเด็กแต่ละคนมีภูมิหลังครอบครัวที่แตกต่างกัน โดย Terry เป็นเด็กนิสัยเสียและขี้เกียจ มาจากครอบครัวที่มีฐานะ เชื่อฟัง และถูกแม่ครอบงำ ส่วน Kok Pin เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปิน แต่พ่อแม่กลับให้สนใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในขณะที่ Boon Hockc มีฐานะยากจน ขาดพ่อ เหลือเพียงแต่แม่อยู่ด้วยกันเพียงสองคน โดยมีแผงขายบะหมี่เล็ก ซึ่งเขาต้องดูแลด้วย ทั้งสามถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “คนโง่” จนกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาทั้งสามคนพิสูจน์ตนเอง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าความเห็นส่วนใหญ่ของสังคมไม่ถูกเสมอไป
    Jack Neo ผู้เขียนต้องการให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ในระบบการศึกษาที่เน้นกระแสค่านิยมเชิดชูคนเก่งทางวิชาการ ส่วนนักเรียนที่ไม่เก่งถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ต่ำกว่า ทำให้ศักยภาพทางด้านอื่นของนักเรียนถูกกดไม่สามารถแสดงความสามารถออกมาได้ Neo เขียนให้ตัวละครต่อสู้ลุกขึ้นมาพิสูจน์ตนเองจากที่สังคมพิพากษาไปแล้วว่า เด็กเหล่านี้คือ “คนไร้ค่า” ในขณะที่แม่ของ Terry เป็นตัวแทนของ รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ทำตนเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด ให้ทุกคนทำตามโดยไม่สนใจเสรีภาพของผู้อื่น ทุกคนต้องเชื่อฟังและเคารพในหน้าที่ สุดท้ายนักเขียนต้องการเน้นให้ชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่ว่า “ถ้าคุณไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรที่แตกต่างออกไป คุณก็จะไม่มีวันชนะมัน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับคุณ”
    ภาพยนตร์ยังแสดงถึงผู้ปกครองของเด็กทั้งสามก็ประสบปัญหาเช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อาทิ องค์กรข้ามชาติจากตะวันตกเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจทำให้คนสิงคโปร์ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและการขวนไขว้ความเจริญของสายงาน การเกิดธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย อีกทั้งภาษาอังกฤษมีบทบาทที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของสิงคโปร์ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่ต้องต่อสู้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีความรุนแรง และคนรุ่นใหม่ย่อมได้รับการคาดหวังจากรัฐเช่นเดียวกัน โดยการเป็นคนคุณภาพเพื่อเป็นกำลังของชาติในการพัฒนาประเทศ
    ในช่วงทศวรรษ 1980 สิงคโปร์เริ่มประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับคุณภาพของการศึกษาแทนที่จะเป็นปริมาณ สำหรับการปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์ได้กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับศตวรรษ 21คือ “Thinking Schools, Learning Nation” เห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือรัฐในการสร้างวาทกรรมครอบงำแก่ประชาชนรุ่นต่อรุ่น โดยเน้น “ชาติ” เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยล้วนไม่มีความสำคัญ เท่าผลประโยชน์ของชาติ ประชาชนยอม(อย่างไม่รู้ตัว)เป็นเบี้ยล่างให้กับทุนนิยมที่เจริญเติบโตและเขมือบพื้นที่ส่วนตัวทุกขณะ ชีวิตประจำวันของประชาชนเปรียบเสมือนชีวิตประจำวันของรัฐที่รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงและดำเนินการอยู่ทุกขณะเพื่อควบคุมไปในทิศทางที่ต้องการ
    สิงคโปร์คงไม่ใช่แต่เพียงประเทศเดียว ที่มีการสร้างชุดความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่งเพื่อให้หันเหสังคมไปในทิศทางที่ทุกคนเชื่อว่า เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก (ชนชั้นนำ นักธุรกิจ หรือคนส่วนใหญ่ ที่จะได้รับผลประโยชน์นั้น) ไม่ว่าผลประโยชน์แห่งชาติจะตกเป็นของชนชั้นไหนในสังคมภายในประเทศ ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่กุมอำนาจและเป็นเจ้าโลกที่แท้จริงคือ ทุนนิยม หรือความกระหายของมนุษย์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ที่เป็นนามธรรมไม่สามารถจับต้องได้ ที่ให้ผลตอบแทนเป็น “เงิน” แม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่ต้องการเข้ามาสู่สังเวียนที่วนเวียนไปหาแต่หายนะทั้งสิ้น
    I’m not stupid ถือเป็นบทสะท้อนถึงการดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อให้สอดคล้องต่อระบบทุนนิยมในโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในปัจจุบันนี้และในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

    แหล่งอ้างอิง
    http://en.wikipedia.org/wiki/I_Not_Stupid
    http://en.wikipedia.org/wiki/Education_in_Singapore
    http://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%20%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B7&source=web&cd=3&cad=rja&ved=0CDoQFjAC&url=http%3A%2F%2Fkpmontha.files.wordpress.com%2F2011%2F03%2Fsingapore.doc&ei=XZv-UOarNcPprQe4mYHgAw&usg=AFQjCNFLmXXi4Y0Nk4Y-s_1uxui63p7tBQ&bvm=bv.41248874,d.bmk

  9. นายวิชชวัฒน์ รอดรัตษะ 5441060124 says :

    นายวิชชวัฒน์ รอดรัตษะ 5441060124

    จากภาพยนตร์ I not stupid ที่ได้รับชมนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นมุมมองการนำเดินชีวิตของคนสิงคโปร์ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตาม คอนโด อพาทเมนต์ และบ้านหลังเดี่ยวซึ่งเป็นส่วนน้อยเป็นต้น ในด้านวัฒนธรรมมีการนำเสนอวัฒนธรรมหลักของชาวสิงคโปร์ที่แทรกไปกับวัฒนธรรมจีน รวมไปถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็น
    ภาพรวมที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศสิงคโปร์

    ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดให้เห็นระบบการศึกษา ผ่านตัวแสดงซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในชั้นประถมศึกษาที่ต้องแข่งขันกันอย่างมาก เพื่อจะได้ไปอยู่ในชั้นเรียนที่ดีที่สุด โดยมีการสอบเพื่อวัดผลแก่เด็กนักเรียนทุกคน ข้าพเจ้ามองว่า ระบบการศึกษาของประเทศสิงค์โปเป็นปัญหาหลักต่อเด็กในวัยเรียนและผู้ปกครอง จะสังเกตได้ว่า เมื่อมีการดำเนินเรื่องขึ้นฉากเปิดตัวได้กล่าวว่า “นี่แหละครับโรงเรียนของเรา นี่คือคุกที่ผมและพวกเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่” ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก การแบ่งระบบห้องเรียนแบบคัดเลือกตามผลคะแนน ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับประเทศไทย ที่แบ่งเป็นห้องคิง ห้อง ควีน คัดเด็กเก่งๆมาเรียนห้องเดียวกัน เด็กที่ไม่เก่งก็นำไปอยู่ห้องท้ายๆเรียนรวมกัน จำแนกอาจารย์ตามความเก่ง อาจารย์คนไหนเก่งก็สอนเด็กห้องคิง อาจารย์คนไหนไม่เก่งก็สอนเด็กห้องท้ายๆ ซึ่งระบบนี้คล้ายกับประเทศไทยที่ต้องการคัดคนเก่งๆเข้ามาเรียนร่วมกัน ซึ่งจากในเรื่องนี้เราจะเห็นบทสรุปของการพยายามของเด็กทุกคนเพื่อให้คะแนนสอบของตนผ่าน แต่มีเพียงก๊อกพินที่คะแนนสอบไม่ดีมากนักสู้คนอื่นๆไม่ได้เพราะความจริงก๊อกพินไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่เขาชอบวาดรูป นอกจากนั้นมันยังทำให้ก๊อกพินเคยคิดถึงกับฆ่าตัวตายเพราะเพียงผลการเรียนที่ไม่ดี นี่แหละครับปัญหาที่เกิดขึ้น ในระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นระบบการศึกษาเพื่อการแข่งขันไม่ใช่ระบบการศึกษาที่จะสร้างคนให้เป็นคนดีของสังคม ไม่ใช่ระบบการศึกษาที่จะสร้างความเป็นพี่น้องและไม่ใช่ระบบการศึกษาที่จะสร้างเพื่อนแท้ให้เกิดขึ้นได้

    นอกจากนั้นแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกที่มีผลกระทบต่อสังคมของคนสิงคโปร์เป็นอย่างยิ่ง การที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามานั้นได้ทำการลบเลือนภาพวัฒนธรรมหลายอย่างของคนสิงคโปร์ไปเป็นอย่างมาก อาทิเช่น แม่ของเทอร์รี่พูดกับลูกและสามีเป็นภาษาอังกฤษ จนพ่อต้องมีแม่เลี้ยงชาวไต้หวันที่สอนภาษาจีนให้ลูก, พี่สาวของเทอร์รี่ไม่ยอมพูดภาษาจีนแต่กลับพูดภาษาอังกฤษในชั่วโมงเรียนจีน, เมื่อพ่อของก๊อกพินถามภรรยาว่าทำไมไม่สอนภาษาจีนลูก เธอตอบว่า “ช่างมันก่อน ภาษาจีนน่ะเดี๋ยวค่อยไปเรียนทีหลังก็ได้ ตอนนี้ต้องเน้นภาษาอังกฤษกับเลขก่อน”, บริษัทของพ่อก๊อกพินพูดคุย-ประชุมงานกันเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงการเข้ามาของฝรั่งหัวทองที่ทั้งเจ้าของบริษัทและลูกค้าดูเหมือนจะชื่นชมไอเดียของเขาเสียเหลือเกินเพียงเพราะว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ เป็นต้น การยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกในประเทศสิงค์โปดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำกันเพราะมองว่าการเข้ามาของต่างชาติทำให้ภาพพจน์ของประเทศดูเป็นสากลมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น

    สรุปปัญหาหลักที่สามารถมองเห็นได้ในเรื่องนี้ คือ ปัญหาของเด็กสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญของภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาจีนซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้ในขณะนั้น ปัญหาการแข่งขันของระบบการศึกษาที่เพียงแต่หาคนที่ผลการเรียนดี มากกว่าจะค้นหาเด็กที่มีความเก่งและความสามารถในทางเฉพาะด้าน ปัญหาการมองว่าต่างชาติดีกว่าคนของตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้คนสิงค์โปถูกดูดกลืนความสามารถที่แท้จริงของตนเพราะไม่มีใครยอมรับคนของตนเองได้ และที่สังเกตเห็นได้อีกอย่างคือปัญหาการคิดสั้นฆ่าตัวตายซึ่งน่าจะเป็นปัญหาใหญ่เลยก็ว่าได้เพราะจากในเรื่องนั้นเพียงเพราะแค่คะแนนที่น้อยของก๊อกพินถึงกลับต้องคิดสั้นฆ่าตัวตายเลยหรอสิ่งนี้น่าสนใจเพราะสามารถมองย้อนได้ถึงวัฒนธรรมการขัดเกลาของคนในครอบครัวของชาวสิงค์โป

  10. รุ่งทิวา เงินปัน says :

    จากการดูภาพยนตร์เรื่อง I not stupid นี้ทำให้เห็นว่าในเรื่องใช้ตัวแสดงหลักเป็นเด็กชาย 3 คน ที่มีฐานะทางบ้านและสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสามทั้ง ก๊อก พิน ,บูน ฮ็อค และ เทอร์รี่ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ การเป็นเด็กนักเรียนห้อง EM3 ซึ่งสังคมได้ตราหน้าว่าเป็นห้องเรียนที่เด็กเรียนแย่ และมักจะถูกกีดกันในเรื่องต่างๆร่วมทั้งการแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งการจะแก้ตัวจากการโดนกล่าวหาว่าเป็นคนทำร้ายผู้อื่นทั้งๆที่ไม่ได้ทำ

    จะเห็นได้ว่าจากการที่มีการแบ่งเด็กนักเรียนเป็นระดับนั้นทำให้เห็นถึงการศึกษาของสิงคโปร์ที่แยกเด็กที่เรียนเก่งและเรียนไม่เก่งออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เห็นถึงการแบ่งชนชั้น ทำให้เด็กที่อยู่ห้อง EM3 กลายเป็นเด็กที่โง่ทุกคน ทั้งๆที่ความจริงแล้วบางคนอาจจะไม่ได้โง่อย่างที่ถูกมองมา อย่าเช่นในเรื่องที่ก๊อก พิน เป็นเด็กที่มีความสามารถทางด้านการวาดภาพ แต่กลับถูกกีดกันจากแม่และพ่อที่ต้องการให้ลูกเก่งในวิชาคณิตศาสตร์ หรือแม้กระทั่ง บูน ฮ็อคที่เป็นเด็กที่หัวดี แต่ด้วยความที่ต้องช่วยแม่ลี้ยงน้องและขายอาหารทำให้เขาไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ ซึ่งทั้งสองคนที่กล่าวมามีฐานะทางบ้านที่แตกต่างจากเทอร์รี่ ที่มีฐานะที่บ้านรวยแต่กลับเป็นเด็กขี้เกียจและเชื่อฟังคำสั่งของแม่ทุกเรื่องจนไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง นั่นแสดงให้เห็นได้ว่าสังคมของสิงคโปร์ยึดติดกับการศึกษาที่เหมารวมเอาเองว่าเด็กทุกคนต้องเก่งภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ทำให้เด็กห้อง EM1 และ EM2 เป็นเด็กที่ทั้งโรงเรียนให้ความสำคัญ แต่เด็กที่เรียนไม่เก่งแต่มีความสามารถด้านอื่นก็จะถูกมองว่าโง่ และไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม

    สิ่งที่เห็นต่อมาคือการที่คนสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับชาวต่างชาติที่เป็นฝรั่ง ทำให้เห็นได้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนสิงคโปร์เป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่งการที่เห็นว่าอะไรที่ฝรั่งคิดมักจะต้องดีเสมอ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่พ่อของเทอร์รี่ที่มีบริษัทหมูแผ่นแล้วต้องการให้บริษัทที่พ่อของก็อกพินทำงานอยู่คิดโฆษณาเพื่อโปรโมทหมูแผ่นให้ ทั้งๆที่ความคิดที่ฝรั่งนั้นคิดไม่ได้ทำให้การธุรกิจของพ่อของเทอร์รี่ดีขึ้นเลย จนสุดท้ายคนที่มาช่วยก็คือพ่อของก็อกพินที่เป็นคนสิงคโปร์ด้วยกันเอง

    และต่อมาคือการกล่าวเสียดสีถึงรัฐบาลสิงคโปร์ที่เน้นการเข้ามาของบริษัทต่างประเทศ แม้จะมีการกล่าวเสียดสีเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เห็นว่าได้ว่าชาวสิงคโปร์ไม่ค่อยจะแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลมากนัก

    จากทั้งหมดที่ได้ดูมาจะเห็นได้ว่าในเรื่องจะเน้นไปที่ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ ที่เน้นให้ความสนใจต่อเด็กที่เรียนเก่ง และพูดภาษาอังกฤษได้ชัดถ้อยชัดคำ จนลืมภาษาจีนที่ควรจะเป็นภาษาแม่ของสิงคโปร์มากกว่า และเด็กที่เรียนไม่เก่งแต่มีความสามารถด้านอื่นๆก็ถูกลดบทบาทการให้ความสำคัญลงไป นั่นก็ทำให้เห็นได้อีกว่าอิทธิพลของภาษาอังกฤษ ชาวต่างชาติที่เป็นฝรั่งได้เข้ามาแทรกซึมความเป็นสิงคโปร์โดยผ่านการมองเห็นทางด้านการศึกษาอย่างชัดเจน

    รุ่งทิวา เงินปัน 5341051424

  11. นุชประภา โมกข์ศาสตร์ says :

    ภาพยนตร์เรื่่อง I NOT STUPID

    จากภาพความสำเร็จของการปกครองโดยรัฐแบบกึ่งประชาธิปไตยในการพัฒนาสิงคโปร์หลังจากแยกตัวเองออกมาจากประเทศมาเลเซียเมื่อปี 1965 นั้นสังคมสิงคโปร์ก็ได้ถูกกำหนดทิศทางและปกครองโดยกลุ่มชนชั้นนำของประเทศมาโดยตลอด ซึ่งทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั้งการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จนสามารถผลักดันให้ประเทศก้าวข้ามความลำบากที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่งมาได้อย่างน่าทึ่ง อย่างไรก็ตามสาเหตุหลักที่สิงคโปร์สามารถพัฒนาได้รวดเร็วนั้นเป็นเพราะมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลในการกำหนดกฎระเบียบของสังคมขึ้นมาใช้รวมถึงการกำหนดค่านิยมต่างๆ ไปจนกระทั่งทิศทางของการดำเนินชีวิตของคนสิงคโปร์ จนทำให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเลือกและการแสดงออกต่างๆของประชาชน เป็นวงกว้าง

    ดังนั้นการต่อต้านต่ออำนาจของรัฐบาลในสิงคโปร์ จึงได้แสดงออกมาผ่านผลงานในสาขาต่างๆ เช่น ศิลปะ การแสดง การละคร และภาพยนตร์ ในส่วนของภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านอำนาจและแนวคิดของรัฐบาลในการครอบงำจิตใจของประชาชน คือภาพยนตร์เรื่อง I NOT STUPID ซึ่งนำเสนอบทบาทของรัฐบาล ที่พยายามสร้างบรรทัดฐานทางสังคม จนคนสิงคโปร์เองต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำทางความคิดมาเป็นเวลานาน โดยภาพรวมนั้นรัฐบาลสิงคโปร์ มีบทบาทอย่างมากในการนำทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพของปัจเจก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่อต้านต่อวาทกรรมเพื่อส่วนรวม ที่ประชาชนจะต้องเชื่อฟังอำนาจรัฐ เคารพกฎระเบียบ เน้นความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว เช่นที่เคยเป็นมา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นภาพยนตร์ที่ขัดแย้งและต่อต้าน ต่ออุดมการณ์หลักของสังคม อย่างอุดมการณ์แบบประชาคมนิยมที่เกิดขึ้นในสมัย ลีกวนยู และได้สถาปนา ความหมายใหม่ที่เน้นความสำคัญของเสรีภาพในการคิด พูด และทำ มากขึ้น I NOT STUPID จึงเป็นความพยายามของสังคมสิงคโปร์ที่ต้องการจะหลุดพ้นจากแนวคิดและคุณค่าในแบบเดิม คือการให้คุณค่าต่อคนเก่ง การเน้นให้คนหันมาพูดภาษาอังกฤษจนทำให้ลืมภาษาจีน การเปรียบเทียบศักยภาพของคนสิงคโปร์กับต่างชาติ เป็นต้น แล้วหันมามุ่งเน้นความสามารถในการแสดงออกทางความคิดความเห็นกันมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว I NOT STUPID คือภาพยนตร์ที่เป็นกระบอกเสียงของคนสิงคโปร์ในการออกมาแสดงการต่อต้านการครอบงำความคิดต่างๆ ที่ลดคุณค่าความเป็นสิงคโปร์ของรัฐบาลนั่นเอง

    นางสาวนุชประภา โมกข์ศาสตร์
    รหัสนิสิต 5341033124
    ภาควิชาการปกครอง

  12. นางสาววุฒิณี ทองแก้ว 5341057224 says :

    I not stupid
    เป็นเรื่องราวของเด็ก 3 คนที่มาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน ทั้ง3 คนเป็นเพื่อนร่วมชั้น ป. 3 ขณะที่พวกเขามีอายุเพียง 12 ปี จึงแสดงว่ามีพัฒนาการทางการศึกษาที่แย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกัน เริ่มจาก ก๊อก พิน ซึ่งเป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์และเกิดมาเพื่อเป็นศิลปินแต่พ่อแม่ของเขากลับต้องการให้ ก๊อก พิน ใส่ใจกับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่า บูน ฮ็อค เด็กน้อยจากครอบครัวที่ยากจนเขาต้องจัดการกับเรื่องการเรียนและการช่วยงานที่แผงขายของ เทอร์รี่ กู่ เป็นเด็กที่นิสัยเสียและขี้เกียจมาก เทอร์รี่มักจะสนใจแต่เรื่องตัวเองเท่านั้นเด็กทั้ง3คนจึงเกิดปัญหากันบ่อยๆ แต่เมื่อเทอร์รี่เสนอตัวบริจาคไขกระดูกของตนให้กับแม่ของ ก๊อก พิน แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่กลัวความเจ็บปวดเป็นที่สุดและจากจุดนั้นเองที่มิตรภาพของพวกเขาทั้งสามเริ่มก่อตัวขึ้น
    ประเทศสิงคโปรในมุมมองที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักนั้นเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก มีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ดูเป็นระบบระเบียบ สะอาด ประชากรสิงคโปรก็เป็นประชากรที่มีคุณภาพ แต่หลังจากการที่ข้าพเจ้าได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงสังคมสิงคโปในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ
    ในด้านการศึกษา จะเห็นได้ชัดในด้านการศึกษา คือ พ่อแม่มักจะต้องการให้ลูกมีการศึกษาที่ดี เห็นได้จาก ก๊อก พิน ที่ตนเองมีความรักในศิลปะแต่พ่อแม่อยากให้เรียน วิชาคณิตศาสตร์ เห็นได้ชัดว่าเป็นค่านิยม พ่อแม่มักจะพูดถึงเกรดของลูกๆเสมอ และในประเทศสิงคโปรมีการแข่งขันทางด้านการศึกษากันสูงมาก การแข่งขันเรื่องเรียกในสิงคโปรจึงเป็นเรื่องปกติ ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลเป็นตัวสร้างค่านิยมของการศึกษาทางด้านวิชาการอย่างมาก การจัดระบการศึกษาเป็นแบบสอบเพื่อที่จะได้อยู่ห้องดีๆ ตรงนี้ก็จะเห็นว่าเด็กยิ่งเก่งก็จะยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องลำดับต้นๆ นอกจากนี้ประชาชนสิงคโปรยังมีทัศนะคติต่อเด็กที่เรียนห้องอันดับท้ายๆว่าเป็นเด็กที่โง่อีกด้วย
    ในด้านวัฒนธรรม จะเห็นว่าสิงคโปร เป็นประเทศที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ และที่มีมากกว่าครึ่งประเทศก็คือ ประชากรที่มีชนชาติจีน ซึ่งก็จะมีวัฒนธรรมจีน รวมไปถึงการใช้ภาษาจีน แต่เนื่องจากสิงคโปรนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประชาชนทุกคนจึงพูดภาษาอังกฤษได้ รัฐบาลสิงคโปรก็ยังสนับสนุนให้ประชาชนนั้นมีภาษาและวัฒนธรรมแบบตะวันตกอีกด้วย นั่นจึงทำให้เอกลักษณ์ของความเป็น จีน ที่สิงคโปรเคยมีอยู่ก่อนหายไป
    ในด้านเศรษฐกิจ ก็เช่นเดียวกับด้านการศึกษาคือ ประชาชนถูกปลูกฝังให้มีรายได้ที่ดี เนื่องจากสิงคโปรเป็นประเทศที่รัฐบาลส่งเสริมทางภาคธุรกิจอย่างมาก ดังนั้นแล้ว ประชาชนจึงมีเป้าหมายเดียวกัน คือ หนทางแห่งความร่ำรวย เหล่านี้ จึงทำให้มีหลายคนต้องเห็นแก่ตัวไปบ้าง
    ปัญหาหลักๆที่สะท้อนสังคมที่เห็นได้ชัดก็คือ การปลูกฝังค่านิยมอย่างผิดๆ นั่นก็คือค่านิยมที่ต้องเรียนเก่งเรียนดี เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ในที่นี้คือ มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดี กลุ่มคนประเภทนี้ประสบความสำเร็จก็จริงอยู่ จึงอยากให้ลูกหลานเจริญรอยตาม และพวกเขาก็จะมองคนที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า ว่าเป็นคนต่ำต้อยในสังคม แต่ในเมื่อมีกลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่ห้องอันดับต้นๆนั้น หรือเรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ไม่มีความรู้ด้านวิชาการมากขนาดนั้น สามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ และใช้ชีวิตได้ดีกว่า กลุ่มเด็กเก่ง เรื่องนี้จึงน่าจะเป็นข้อคิดให้แก่ประเทศสิงคโปร ได้มากที่เดียว

    นางสาววุฒิณี ทองแก้ว 5341057224

  13. สุวิจักขณ์ คีรีพัฒนานนท์ says :

    Reflection จากเรื่อง ผมไม่โง่

    จากภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นได้พยายามชี้ให้เห็นถึงลักษณะของสังคมสิงคโปร์ในอีกด้านหรืออีกมุมหนึ่งที่แตกต่างกับสังคมที่ทุกคนเข้าใจ ซึ่งได้ทำการแสดงออกมาโดยการผ่านเด็กนักเรียนเป็นผู้ดำเนินเรื่อง โดยจากตัวละครที่เป็นเด็กนักเรียนนี้ได้มีการชี้ให้เห็นถึงลักษณะความคาดหวังที่สูงจากสังคมสิงคโปร์ต่อคนในตำแหน่งหน้าที่หรือในวัยต่าง ๆ อย่างสูงหรือมีมาตรฐานความคาดการณ์ที่สูง ซึ่งหากผู้ใดไม่มีความสามารถหรือมีความสามารถน้อยหรือในกรณีของเด็กที่เป็นตัวเอกที่ถูกมองว่าโง่นั้น จะมีลักษณะของการกีดกันทางโอกาสขึ้น ถูกเหยียดและดูถูกในตัวของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งหากถ้ามองไปสู่สังคมสิงคโปร์ตามที่เราเข้าใจ น่าจะคนละเรื่องเลย เพราะในภาพความคิดต้องเชื่อสังคมของสิงคโปร์นั้นเป็นสังคมที่เสรี มีอิสรภาพ ทุกคนมองกันในฐานะที่เท่าเทียมกัน การเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรต่าง ๆ เท่าเทียมกัน ซึ่งจากจุดที่ได้กล่าวถึงตัวอย่างจากในภาพยนตร์แล้วพบว่าไม่มีความเหมือนเลย ในส่วนนี้จึงเป็นประเด็นแรกที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอออกมา

    ในส่วนต่อมาคือลักษณะของคนและสังคมสิงคโปร์จากที่ได้กล่าวไปว่าสังคมสิงคโปร์มีความคาดหวังสูง ในหลาย ๆ ครั้งผู้ที่ถูกมองว่ามีความสามารถต่ำนั้นอันแท้จริงแล้วอาจจะมิได้มีความสามารถต่ำดังที่ได้ถูกกล่าวหาแต่เป็นด้วยอาจเพราะเงื่อนความจำเป็นทำให้เกิดผลอันทำให้เกิดการคิดเหมารวมว่าเป็นผู้มีศักยภาพต่ำหรืออาจเรียกว่าเป็นการมองคนแบบสรุปเหมารวมแบบ Stereo Type ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้หลาย ๆ ครั้งเกิดการปิดกั้นการเข้าถึงโอกาสขึ้นในสังคม โดยการกระทำของคนในสังคมต่อผู้ที่คิดว่ามีศักยภาพต่ำด้วยการมองแบบสรุปเหมารวม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการไม่เท่าเทียมกันทางโอกาสขึ้นในสังคม สังคมสิงคโปร์ที่เรามองว่าดีอันแท้ที่จริงแล้วนั้นจะดีจริงหรือ

    ในเรื่องของรัฐบาลต่อสังคมนั้น สิงคโปร์เป็นสังคมที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมและปฏิบัติตามแนวทางหรือแนวความคิดของรัฐบาลเสมอ ซึ่งรัฐอาจทำหน้าที่คล้าย ๆ เผด็จการณ์ทางความคิดและทางการปฏิบัติต่อประชาชนแต่เพื่อความมีระเบียบและเกิดประโยชน์ขึ้นในสังคมประชาชนในสังคมสิงคโปร์จึงยอมที่จะอยู่ในรัฐที่มีระบบเช่นนี้

    โดยสรุปเชื่อว่าสังคมสิงคโปร์ตามที่ได้แสดงให้เห็นจากภาพยนตร์นั้นเป็นสังคมอีกด้านหนึ่งของสิงคโปร์ที่หลาย ๆ คนอาจคาดไม่ถึงแต่ด้วยหนังเรื่องนี้ทำให้เห็นถึงระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ ของสังคมสิงคโปร์ที่มีภาพต่อสังคมโลกว่าเป็นสังคมที่ดีแต่ในความจริงอาจไม่ตรงกับความเชื่อเดิมก็เป็นได้

    นายสุวิจักขณ์ คีรีพัฒนานนท์ 534 10623 24

  14. kaimukpearl says :

    ความรู้สึกจากการดูหนังเรื่อง i not stupid

    ความรู้สึกหลังจากการดูหนังเรื่อง i not stupid สามารถทำให้วิเคราะห์ได้หลายประเด็น เริ่มจากชื่อเรื่องที่มีการสื่อถึงผู้เล่าเรื่องหรือที่หนังเรื่องนี้พยายามจะบอกว่า ฉันไม่ได้โง่ หนังเรื่องนี้เป็นหนังสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าการทำหนังออกมาในลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ของสิงคโปร์มาก เป็นหนังที่สะท้อนอีกมุมหนึ่งที่บางทีคนสิงคโปร์อาจจะมองไม่เห็นเพราะพวกเขาชิน หนังเรื่องนี้ได้นำเด็กมาเป็นตัวเล่าเรื่องหลักสาเหตุที่นำเด็กมาเป็นตัวเล่าเรื่องหลักน่าจะเป็นเพราะเด็กๆนั้นยังไม่ถูกกลืนกินทางความคิดมากเหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้นเด็กจึงมีความคิดที่เป็นอิสระมากกว่า โดยในหนังเรื่องนี้ได้เปรียบเทียบคนที่มีลักษณะนิสัยเป็นชาวสิงคโปร์คือเด็กน้อยที่ชื่อ Terry ลูกคนรวยที่ถูกแม่สั่งสอนตลอดเวลาว่า บางเรื่องให้หลับหูหลับตาไว้บ้าง ทำเป็นไม่สนใจแล้วเราจะได้เอาตัวรอด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคนสิงคโปร์ที่อยู่กันแบบไม่สนใจในอิสระอย่างแท้จริง โดยพวกเขาไม่มีการเรียกร้องหรือตั้งคำถามกับการกระทำของรัฐเลยเนื่องจากรัฐนั้นได้ให้สาธารณูปโภคพื้นฐานและดูแลคนของเขาอย่างดีจึงทำให้ไม่มีการตั้งคำถามหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่าความคิดของคนนั้นมีหลากหลายสุดท้ายก็มีคนตั้งคำถาม โดยในเรื่องนี้ได้ให้เด็กอีกสองคนเป็นคนที่ออกนอกกรอบของคนสิงคโปร์ โดยที่คนหนึ่งเป็นเด็กที่ออกนอกกรอบ รักเพื่อน และมีความอดทน อีกคนเป็นเด็กที่วาดรูปเก่งแต่น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาของสิงคโปร์นั้นไม่เห็นค่า เรื่องนี้ยังมีประเด็นอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับเด็กหัวดีทางสายวิทย์ – คณิต แต่ไม่ให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความสามารถทางด้านศิลปะถึงแม้ว่าเขาจะมีความสามารถเพียงใด แต่ถึงอย่างไรก็ดียังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเช่นนี้ ซึ่งในเรื่องคือ ครูประจำชั้นของเด็กทั้งสามคน
    นอกจากเรื่องลักษณะของตัวละครกับลักษณะของคนสิงคโปร์ เรื่องระบบการศึกษาที่ต้องการแต่เด็กที่เก่งในด้านคณิตศาสตร์ เท่านั้น ซึ่งก็คล้ายๆกับสังคมไทยที่ไม่ค่อยสนับสนุนเด็กที่มีความสามารถทางด้านศิลปะเท่าไหร่นัก ยังมีประเด็นในหนังเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของครอบครัว ที่สามารถเรียกน้ำตาได้ โดยเฉพาะฉากของเด็กที่มีความสามารถด้านศิลปะโดนแม่ตีเพราะคิดว่าลูกของตัวเองนั้นไม่ขยัน แต่ไม่ได้มองถึงความถนัดของลูกเลย จากเรื่องทำให้เห็นถึงความพยายามของเด็กคนนี้อย่างมาก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่เขาตั้งใจก็ตาม เขาตั้งใจทำข้อสอบเพื่อให้แม่ที่กำลังป่วยอยู่ได้ชื่นใจ แต่ถึงอย่างไรมันก็ไม่ใช่ความถนัดของเขา สุดท้ายเขาก็ทำให้แม่เขาภูมิใจจากผลงานที่เกิดจากความถนัดของเขาเอง
    สุดท้ายเมื่อมองถึงอุตสาหกรรมหนังของสิงคโปร์ที่สร้างออกมาได้มาตรฐาน บทของหนังสื่อความหมายได้ชัดเจนในแง่ของการเปรียบเทียบเด็กทั้งสามคนว่าเหมือนคนสิงคโปร์โดยเฉพาะเด็กอ้วนตัวเอกของเรื่อง และถึงแม้ว่าบางคนที่ดูเรื่องนี้ไม่ต้องการการตีความอย่างไรดูเพียงเพื่อความสนุกสนานก้ถือได้ว่าหนังเรื่องนี้สามารถให้ความบันเทิงได้ครบรสจริงๆ

    นางสาวธนพร คงชัย 534 10251 24

  15. THEME THANAPRAT GONGSAB says :

    Reflextion “I not stupid.”
    จากการชมภาพยนตร์เรื่อง “I not stupid” แล้ว ผมจับประเด็นทางสังคมประเทศสิงค์โปร์ได้ดังนี้
    1. ค่านิยมในการใช้ภาษาอังกฤษ
    ในภาพยนตร์ แม่และพี่ของพระเอก (Terry) มีค่านิยมพูดภาษาอังกฤษ โดยคิดว่าถ้าใช้ภาษาอังกฤษแล้วจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และชนชั้นของตนเองให้สูงขึ้น ดูเป็นผู้มีภูมิเหนือกว่าคนอื่น ๆ (เชื่อชาติอื่น หรือ จีน) ในสิงค์โปร์
    2. ค่านิยมในการแบ่งแยกชนชั้นทางปัญญา
    ในโรงเรียนของ สิงค์โปร มีการแบ่งห้องเรียนคนเรียนเก่งและไม่เก่ง และการแบ่งลักษณะนี้ทำให้เห็นถึงการแบ่งแยกชนชั้นทางปัญญา และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการกดขี่ทางชนชั้น เช่นการดูถูก ข่มเหง เป็นต้น
    3. ค่านิยมในการใช้ชีวิตอย่างอิสระ
    ในภาพยนตร์ พี่ของพระเอก (Terry) มีค่านิยมที่จะให้ชีวิตเป็นอิสระปราษจากการบังคับควบคุมดูแลจากพ่อแม่ ในประเด็นนี้ คือค่านิยมที่มาจากตะวันตก เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตคนในสิงคโปร

  16. เอกพงศ์ มีสุข says :

    สิงคโปร์เป็นประเทศที่ติดอันดับท็อปเท็นประเทศที่มีคอรัปชั่นน้อยที่สุด ซึ่งลักษณะนี้มักกพบได้ในประเทศเสรีประชาธิปไตยแบบแท้ๆ แต่น่าแปลกใจประเทศที่มีอำนาจผูกขาดอย่างนี้จะมีคอรัปชั่นน้อยได้?

    ถามว่าทำไมผมจึงตัดสินใจว่าประเทศนี้มีรัฐบาลอำนาจผูกขาด เพราะจากหนัง I not stupid เราจะเห็นประเด็น ความสัมพันธ์ของสื่อมวลชนกับสังคม-การเมือง มีลักษณะตาม Authoritarian Theory คือ ใช้ State-Controlled Media สิงคโปร์มีการควบคุมในเชิงโครงสร้างผ่านการให้สัมปทานสื่อและควบคุมเชิงกฎหมาย เช่น การเซนเซอร์ ซึ่งในหนังเราจะเห็นว่ารัฐบาลมีการควบคุมสื่อไม่ให้ใช้ภาษาสิงหลเพราะกลัวกลืนกินภาษาอังกฤษ หรือ การให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาจีน คือ ไม่ได้สร้างเสรีภาพให้สื่อมวลชนที่ควรจะเป็น อีกข้อสนับสนุนที่หนังบอกว่ารัฐมีอำนาจผูกขาด คือ หนังเปรียบแม่ของเทอรรี่เด็กอ้วนฐานะดี ว่าเป็นเหมือนรัฐบาลที่ครอบงำทุกอย่าง ผู้อยู่ในบ้านมีเสรีจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแม่เพราะเป็นบ้านของแม่

    ทำไมสิงคโปร์จึงเป็นพรรคเดี่ยวผูกขาดอำนาจครอบงำการเมืองได้ยาวนานขนาดนี้ ในหนังอาจตอบโจทย์นี้ได้บ้าง เช่น ตอนที่รัฐออกนโยบายสนับสนุนให้เงินประชาชนทั้งที่เศรษฐกิจไม่ดี และตัวละครในหนังก็รู้ด้วยว่าให้เงินเพราะใกล้การเลือกตั้งแต่ก็ยอมรับนโยบายของรัฐ น่าคิดว่าการที่พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งมาตลอดเพราะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดเสมอ ในหนังจะเห็นได้ว่าเมื่อลูกสาวซึ่งไม่พอใจแม่(=รัฐบาล)แต่พอแม่ซื้อรองเท้ามาให้ก็ขอบคุณแม่และลืมความโกรธเหล่านั้นไปเท่ากับว่ารัฐบาลนี้เอาใจประชาชนเก่ง หรือ เป็นเพราะคนสิงคโปร์ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำลายระบบพรรคเดี่ยวที่ครอบงำการเมือง ดังที่หนังบอกว่า คนสิงคโปร์เปรียบเหมือนปลาที่ไม่เคยกินเบ็ด เนื่องจากไม่เคยอ้าปาก ยอมรับสิ่งนั้นซ้ำๆไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันเราจะเห็นคนเริ่มมีท่าทีเพิ่มมากขึ้น เช่น ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสิงคโปร์คนเริ่มมีการเทคะแนนไปให้พรรคฝ่ายค้านมากขึ้น หลายเหตุผลที่มาสนับสนุนปรากฏการณ์ดังกล่าว มีการวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะคนเบื่อรัฐบาลเผด็จการในระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้สร้างเสรีภาพให้ประชาชนจริงๆจึงอยากเปลี่ยน หรือเหตุผลโต้แย้งว่า จริงๆแล้วประชาชนไม่ได้อยากได้พรรคฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลใหม่ แต่ต้องการเตือนรัฐบาลถึงความไม่พอใจของประชาชนในบางเรื่อง เช่น การที่ปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งในหนังเราก็จะเห็นคนจากประเทศจีนเข้ามาทำงาน หรือปล่อยฝรั่งคุณภาพต่ำเข้ามาทำงานในตำแหน่งสูงเพียงเพราะต้องการสร้างความเป็นสากล

    สุดท้ายหนังพยายามบอกว่าความเป็นสากลที่สิงคโปร์พยายามมุ่งจะเป็นมากนั้น มันอาจจะไม่ตอบโจทย์คนสิงคโปร์ที่แท้จริง เพราะด้วยคนสิงคโปร์มีหลายเชื้อชาติ-ศาสนา การเอาความเป็นสากลมาจุดขายก็อาจล้มเหลวได้ เช่น สินค้าหมูแผ่นที่ตอนแรกจ้างฝรั่งทำโฆษณาจึงขายไม่ได้ แต่พอให้คนสิงคโปร์ทำเองและเอาดาราจากประเทศแม่ๆจริง เช่น จีน มาเลเซีย อินเดีย มาเป็นพรีเซนเตอร์ จึงทำให้ขายดีและประเด็นนี้อาจแสดงถึงคนสิงคโปร์นั้นก็ยังมีความรักและภูมิใจในเชื้อชาติแม่ดั่งเดิมของตนอยู่

    เอกพงศ์ มีสุข

    524 10594 24

  17. จิตตราพร เลิศศิริ says :

    สิ่งที่ข้าพเจ้าได้จากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือ
    1.อิทธิพลของค่านิยมที่แฝงอยู่ในการดำรงชีวิตประจำวัน เราจะพบว่าสังคมได้กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบที่ควรจะเป็นให้ตัวบุคคล เช่น เด็กนักเรียนสิ่งที่ควรทำคือการเรียนหนังสือให้ได้คะแนนดีๆ ต้องพยายามให้ได้อยู่ห้องเก่ง การกำหนดกรอบในการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ทำให้ความสามารถในด้านอื่นๆที่ตัวเด็กมี เช่นพรสวรรค์ทางด้านศิลปะถูกมองข้าม ก็อาจเปรียบได้กับสังคมไทยที่เน้นให้เด็กมีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นสำคัญ หรือค่านิยมที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเรียนมหาวิทยาลัยมากกว่าเรียนวิชาชีพ

    2.วิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปในลักษณะคล้ายๆกัน มีรูปแบบการดำรงชีวิต กรอบความคิดที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ค่อยยอมรับสิ่งที่แตกต่าง อาจเนื่องมาจากการปลูกฝังค่านิยมในการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม โดยที่ไม่ฝึกให้คิดหรือวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ว่าทำไมต้องทำเช่นนี้ ไม่กล้าที่จะคิดต่างไปจากกรอบที่สังคมส่วนใหญ่กำหนด

    3.ค่านิยมในสิงคโปร์ที่เริ่มเปลี่ยนไป มีการยอมรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น การโฆษณาหรือขายสินค้าต่างๆจากเดิมที่เน้นบรรจุภัณฑ์แบบเก่าแก่ ดูเป็นของโบราณเริ่มได้รับความนิยมลดลง แสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์มีการรับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างรวดเร็ว อาจเนื่องมาจากสิงคโปร์เป็นสังคมที่มีความหลายหลาย จึงทำให้การรับเอาวัฒนธรรมสามารถทำได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามสิงคโปร์ก็ยังมีความเป็นชาตินิยมแฝงอยู่ เราจะเห็นจากในภาพยนตร์ที่พยายามแสดงให้เห็นว่าคนสิงคโปร์ก็มีศักยภาพไม่แพ้กับคนตะวันตก

    4.ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอจุดที่เป็นลักษณะเด่นของสังคมสิงคโปร์ผ่านทางตัวแสดงหลักคือเทอรี่และแม่ของเขา ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐบาลและประชาชน เราจะสังเกตได้ว่าเทอรี่ฟังแม่ทุกเรื่องโดยไม่คิดที่จะพิจารณาว่าสิ่งที่แม่บอกเป็นอย่างไร แต่ในท้ายที่สุดแล้วเขาก็เริ่มคิดได้ว่าสิ่งที่แม่บอกก็ไม่ได้ถูกเสมอไปทุกอย่าง ถึงแม้แม่จะบอกว่าสิ่งที่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของเทอรี่เอง เราจะเห็นว่าตัวหนังได้แอบสอดใส่ภาพที่ประชาชนสิงคโปร์เชื่อฟังรัฐบาลทุกอย่าง โดยไม่ได้พิจารณาว่านโยบายเหล่านั้นเป็นอย่างไร ไม่มีการแสดงออกทางความเห็นที่แตกต่าง ท้ายที่สุดแล้วผู้ทำภาพยนตร์คงหวังว่าประชาชนสิงคโปร์จะคิดได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลอ้างว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ลิดรอนเสรีภาพแบบปัจเจกบุคคลที่พึงมีนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ดังเช่นที่เทอรี่คิดได้ในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง

    จิตตราพร เลิศศิริ
    534 12064 24

  18. หนุ่งฤดี says :

    นางสาวหนึ่งฤดี นวนสาย
    ID 5341465624
    ภาควิชาสังคมฯ
    ภาพยนตร์ เรื่อง I not stupid ประเด็นที่สำคัญก็คือการเสียดสีในเรื่องของ ‘ระบบการศึกษา’ เพราะหนังเปิดเรื่องด้วยภาพของโรงเรียนและเสียงวอยซ์โอเวอร์ของนักเรียนคนหนึ่งว่า “นี่แหละครับโรงเรียนของเรา นี่คือคุกที่ผมและพวกเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่”
    ในหนังพยายามถ่ายทอดให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษา-สถาบันครอบครัวและการฝืนกฎของเด็กนักเรียน I Not Stupid ใช้ตัวละครเด็ก 3 คน ดำเนินเรื่อง เทอร์รี่ (ผู้บรรยายในเรื่อง) เด็กอ้วนตุ้ยนุ้ยลูกเศรษฐีอันมีจะกิน, ก๊อกพิน เด็กที่วันๆเอาแต่วาดรูป ไม่ยอมเรียนหนังสือจนแม่ของเขาเอือมระอา, บูนฮ็อค เด็กที่ต้องช่วยแม่หาเช้ากินค่ำกับการขายก๋วยเตี๋ยว แม้ทั้งสามจะมีพื้นฐานทางครอบครัวและสถานะที่ต่างกัน แต่พวกเขาก็มีจุดร่วมเหมือนกันคือ การที่อยู่ในห้อง ‘ทับ 3’ ห้องที่ได้ชื่อว่าโง่ที่สุด ห้องที่เหล่าผู้ปกครองและอาจารย์เชื่อว่าเด็กพวกนี้ ‘เข็นไม่ขึ้น’
    เด็กทั้งสามล้วนต้องเผชิญชะตากรรมจากคะแนนในใบผลการเรียน ถ้าจะถามว่าตัวเลขในสองสามหลักในนั้นจะส่งผลกับชีวิตคนเราได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าไปถามเรื่องนี้กับก๊อกพิน เขาต้องตอบว่า ‘ใช่’ แน่นอน เพราะทุกครั้งที่คะแนนอันต่ำต้อยไปปรากฏต่อสายตาแม่ของเขา เขาจะถูกฟาดด้วยไม้เรียวซ้ำแล้วซ้ำอีก จนต้องโอดครวญว่า ‘แม่ครับอย่าตีผมเลย คราวหน้าผมจะทำคะแนนให้ได้ 90 ขึ้นแล้วครับ’ ซึ่งถัดมาเขาก็ทำไม่ได้อีก ก็ถูกตีซ้ำอีก เพราะอะไร…เพราะความจริงก๊อกพินไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่เขาชอบวาดรูปต่างหาก! แต่เมื่อใดที่แม่เห็นเขาวาดรูป แม่จะฉีกทิ้งทันที! พร้อมกับตราหน้าว่าเขาเป็นคน ‘ขี้เกียจ’
    ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่าทำไมเด็กที่ผลการเรียนไม่ดี จึงถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้เกียจ ทั้งที่ความจริงเด็กคนนั้นอาจจะมีความถนัดในด้านอื่นมากกว่า ความจริงพ่อแม่ทุกคนก็รู้ในเรื่องนี้ดี แต่บางที ‘ความหวังดี’ ที่มีมากเกินไปต่อลูก มันจะย้อนกลับมาทำร้ายพวกเขาเสมอ … ดูเหมือนพ่อของก๊อกพินจะเข้าใจเรื่องนี้ในระดับหนึ่ง เขาพูดกับภรรยาว่า “ทุกคนมีขีดกำจัดของตัวเองนะ”
    ส่วนในรายของเทอร์รี่นั้นยิ่งแย่ไปกันใหญ่ ในครอบครัวอันมีจะกิน เขาแทบจะไม่ต้องทำอะไรเองเลย แม้แต่เวลาอาหารเช้า สาวใช้ก็เป็นคนทาเนยให้ แม่ของเขาตัดสินใจแทนลูกๆทุกอย่าง ตั้งแต่การจัดแต่งห้อง ไปจนถึงสีกางเกงในของลูกสาว! (พี่สาวของเทอร์รี่) เธอมักพร่ำสอนกับลูกทั้งสองเสมอว่า “เธอควรจะดีใจนะที่มีแม่ดีๆอย่างฉัน” อีกหนึ่งประโยคประจำของเธอก็คือ “ฉันรู้ดีน่ะว่าจะเลี้ยงลูกยังไง” วิธีเลี้ยงลูกของเธอนะหรือ…พอตัวลูกสาวโกรธพ่อแม่หัวฟัดหัวเหวี่ยง ทำทีจะออกจากบ้าน เธอก็ซื้อรองเท้าสุดเก๋ที่ลูกสาวอยากได้ ซ้ำยังพูดว่า “เด็กๆก็แบบนี้แหละ ซื้อของที่พวกเขาอยากได้ เดี๋ยวก็หายพยศ”
    กระบวนการเลี้ยงดูเหล่านี้ทำให้เทอร์รี่ ‘ทำอะไรไม่เป็น’ (จนขนาดที่ว่า เมื่อเขาถูกโจรเรียกค่าไถ่จับตัวไปยังต้องให้พวกโจรทาเนยให้!) ตัดสินใจอะไรเองก็ไม่ได้เพราะว่าแม่บอกไว้อย่างนั้นอย่างนี้ ร้ายที่สุดคือเขาไม่มีเพื่อนเพราะเขาไม่เคยสนใจเรื่องของ ‘คนอื่น’ เอาเสียเลย ตามคำสอนของแม่ว่า ‘เรื่องของชาวบ้านอย่าไปยุ่ง’

    การเลี้ยงดูลูกของทั้งสองบ้านก็เข้าข่ายเรื่อง ‘พ่อแม่รังแกฉัน’ ของบ้านเรา
    แต่แม้เทอร์รี่จะเป็นลูกเศรษฐีมาจากไหน การที่อยู่ในห้อง ‘ทับ 3’ ก็ไม่วายโดนดูถูกอยู่ดี สิ่งที่ตามมาคือ การที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่นที่ดีกว่า เราคงจำกันได้ว่าในวัยเด็กการที่พ่อแม่ทำแบบนี้ ทำให้เรา ‘อับอายขายขี้หน้า’ และ ‘เสียศักดิ์ศรี’ เป็นที่สุด (โดยเฉพาะถ้าคนที่เราถูกเปรียบเทียบด้วยนั้น เป็นไอ้บ้าที่เราเหม็นขี้หน้ามันสุดๆ) มันคือการทำลายความรู้สึกอย่างรุนแรง…
    สิ่งที่ทำให้เด็กทั้งสามต้องดักดานอยู่ห้อง ‘ทับ 3’ คงเพราะทัศนคติของผู้คนที่ว่าเด็กพวกนี้เกินแก้เสียแล้ว ครูคนหนึ่งบอกกับอาจารย์ประจำชั้นห้อง 3 ว่าอย่าไปเสียเวลากับเด็กพวกนี้ให้มากนักเลย อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นระบบการศึกษาที่มีการแบ่งเด็กเป็นห้องตามระดับการเรียน หรือที่เราคุ้นเคยในคำว่า ‘ห้องคิง’ และ ‘ห้องโง่’
    จริงๆการแบ่งห้องแบบนี้ แม้จะทำให้ง่ายต่อการสอนของอาจารย์ แต่สำหรับนักเรียนล่ะ? เด็กห้องคิงยิ่งเรียนยิ่งฉลาด แต่เด็กห้องโง่ยิ่งเรียนก็ยิ่งโง่ เพราะอะไร…ก็เพราะสภาพแวดล้อมที่มีแต่เด็กที่ถูกตราหน้าว่าโง่มากระจุกตัวอยู่รวมกัน เด็กหน้าไหนมันจะมีกะจิตกะใจเรียน! ในอีกทางหนึ่งถ้าคุณเดินผ่านเด็กห้องคิงบรรยากาศนั้นแสนจะเย็นชา
    ทุกคนเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำการบ้าน-อ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้ตัวเองตกชั้น ส่วนเด็กห้องโง่กลับส่งเสียงพูดคุยเฮฮาปาร์ตี้กันเจี๊ยวจ๊าว
    นั่นหมายความว่า ‘ระบบการศึกษา’ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกระบวนการสร้างความรู้และกระบวนการขัดเกลาทางสังคมนั้น แท้จริงแล้วมันคือ ‘กรอบ’ ที่บีบรัดเหล่าเด็กนักเรียนจนทำให้พวกเขาไร้ซึ่ง ‘จินตนาการ’ หรือเปล่า?
    อีกประเด็นหลักในหนังเรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรมตะวันตกที่รุกล้ำเข้ามาในประเทศ’ เพราะสิงคโปร์นั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีการพูดสองภาษา (Bilingual) นั่นคือ ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ แต่ทุกวันนี้ภาษาอังกฤษกำลังจะกลืนกินภาษาแม่ของประเทศไป หนังบอกเล่าถึงส่วนนี้จากหลายตัวละคร แม่ของเทอร์รี่พูดกับลูกและสามีเป็นภาษาอังกฤษ จนพ่อต้องมีแม่เลี้ยงชาวไต้หวันที่สอนภาษาจีนให้ลูก, พี่สาวของเทอร์รี่ไม่ยอมพูดภาษาจีนแต่กลับพูดภาษาอังกฤษในชั่วโมงเรียนจีน, เมื่อพ่อของก๊อกพินถามภรรยาว่าทำไมไม่สอนภาษาจีนลูก เธอตอบว่า “ช่างมันก่อน ภาษาจีนน่ะเดี๋ยวค่อยไปเรียนทีหลังก็ได้ ตอนนี้ต้องเน้นภาษาอังกฤษกับเลขก่อน”, บริษัทของพ่อก๊อกพินพูดคุย-ประชุมงานกันเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงการเข้ามาของฝรั่งหัวทองที่ทั้งเจ้าของบริษัทและลูกค้าดูเหมือนจะชื่นชมไอเดียของเขาเสียเหลือเกินเพียงเพราะว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ! (นี่อาจจะสื่อถึงเรื่อง การรุกล้ำทางการค้าก็เป็นได้)
    ส่วนหนังเรื่อง 15 เด็กที่อยู่ในโรงเรียนมีระดับกว่าจะพูดภาษาอังกฤษ ส่วนเด็กอีกกลุ่มที่ดูเหมือนเด็กเกพูดเป็นภาษาจีน จากนั้นทั้งสองฝ่ายมีเรื่องชกต่อยกันเพราะเรื่องภาษา ส่วนอีกฉากหนึ่ง ตัวละครเด็กหัวโจกคนหนึ่งเข้าไปหาเรื่องกับผู้หญิงที่พูดดูถูกพวกเขาเป็นภาษาอังกฤษ
    นอกจากเรื่องราวที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วหนังยังสอดแทรก ‘ปม’ ของเรื่องไว้หลายอย่างชนิดพัวพันกันซับซ้อนทีเดียว เช่น พ่อของก๊อกพินกับเทอร์รี่ไม่ถูกกัน แต่ต้องดันมาทำธุรกิจด้วยกัน, แม่ของก๊อกพินกำลังป่วยหนักใกล้ตาย, พ่อของก๊อกพินจะต้องออกจากบริษัท, โรงงานของครอบครัวเทอร์รี่กำลังจะเจ๊ง, ความสัมพันธ์ของพ่อ-แม่-ลูกในทั้งสามครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างเด็กทั้งสาม
    ในส่วนของการ ‘คลายปม’ คือ ในคู่ของก๊อกพินกับแม่ของเขา หลังจากเห็นว่าแม่ล้มป่วยอย่างหนัก เขาก็พยายามเคี่ยวเข็ญตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อจะได้คะแนนมากกว่า 90 ตามที่สัญญาไว้ แต่ผลกลับออกมาว่าเขาได้คะแนนเพียง 51 เขาเดินร้องไห้ไปหาแม่ที่เตียงพร้อมกับพร่ำขอโทษทั้งน้ำตาว่า “แม่ครับผมพยายามเต็มที่แล้ว แต่คะแนนก็ไม่ถึง 90 ครับ” แต่แม่ของเขาพูดว่า “ไม่เป็นไรหรอกลูก ถ้าลูกพยายามเต็มที่แล้ว แม่แค่ไม่อยากลูกด้อยสติปัญญา เพียงเพราะไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่” จากนั้นคุณครูประจำชั้นของก๊อกพินก็เข้ามาบอกว่ารูปที่เขาวาดนั้นถูกส่งไปประกวด และได้รับรางวัล คุณครูเปิดรูปให้พ่อแม่ของก๊อกพินดู
    …รูปนั้นคือ ภาพก๊อกพินยามเติบใหญ่ในชุดรับปริญญา…
    มีเสียงส่งออกมาจากภาพนั้น ก๊อกพินกำลังบอกพวกเราว่า “ผมไม่โง่…แต่ถึงผมจะโง่ผมก็มีจิตใจ” …จิตใจอันบริสุทธิ์ที่เราอาจหาไม่เจอในเด็กที่ห้องคิง เด็กที่ได้ชื่อว่าเด็ก ‘ฉลาด’!

  19. ณัชชารีย์ ทิศาสมบูรณ์สิน 5341017124 says :

    Reflection I’m not stupid

    ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและปัจเจกชนในสังคม ข้อคิดที่ข้าพเจ้าได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้มีหลายประการด้วยกันดังนี้
    1. สังคมกำหนดสิ่งดีไม่ดีให้กับปัจเจกชนโดยที่ปัจเจกชนไม่สามารถตัดสินคุณค่าเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง สังคมกำหนดการประเมินคุณค่าให้กับคนในสังคม กรอบดังกล่าวนี้แม้โดยพื้นเดิมแล้วจะเกิดขึ้นจากคนในสังคม แต่ในเวลาต่อมากรอบดังกล่าวได้มีอิทธิพลเหนือการกำหนด การคิดของมนุษย์ ปัจเจกบุคคลดูจะไร้อำนาจในการกำหนดคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามสื่อ การประเมินคุณค่าของปัญญาผ่านคะแนนที่เป็นตัวเลขกลายเป็นที่ยอมรับและยึดถือโดยคนในสังคม แม้ว่าในความเป็นจริงปัจเจกบุคคลต่างมีเอกลักษณ์และคุณค่าของตัวเองที่แตกต่างกัน

    2. ค่านิยมทางสังคมจำกัดอิสรภาพชีวิตของปัจเจกในระดับจิตใต้สำนึก
    จากข้อสังเกตข้างต้นจึงเกิดเป็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ ความสามารถในการจำกัดเสรีภาพของปัจเจกชนโดยค่านิยมทางสังคม คนในสังคมอาจคิดว่าเขามีอิสระในการคิด การกระทำและความเชื่อ แต่ในความเป็นจริง ค่านิยมทางสังคมได้กักขังปัจเจกบุคคเอาไว้ในกรอบคิดโดยรวงของสังคม

    3. ค่านิยมทางสังคมบ่อนทำลายการพัฒนาของมนุษย์
    การตกอยู่ภายใต้กรอบของสังคมทำให้มนุษย์ปรับตัวไปในทางที่ใช้ปัญญาน้อยลง มนุษย์ไม่ได้เรียนอีกต่อไป แต่มีการเรียนรู้ที่จะเลียนแบบเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในสังคม การเลียนความคิดในตำราเพื่อทำคะแนนตามค่านิยมทางสังคมเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลยุคใหม่ให้ความสำคัญอย่างมาก มนุษย์จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของปัญญา เพียงแต่เดินไปตามทางที่กลไกทางสังคมสร้างไว้

    ณัชชารีย์ ทิศาสมบูรณ์สิน 5341017124

  20. Jakraparkt says :

    จักรภาค ทวยหาญรักษา 524 10010 24

    I not stupid! Reflection

    หนังเรื่องนี้ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงระบบการศึกษา ที่ force ให้ตัวแสดงที่เป็นเด็กนักเรียนประถามต้องแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันตั้งแต่เล็ก เพื่อจะได้ไปอยู่ในชั้นเรียนที่ดีที่สุด จึงเป็นการสะท้อนระบบทุนนิยมการแข่งขันแบบ “แพ้คัดออก” โดยมีการสอบเพื่อวัดผลแก่เด็กนักเรียนทุกคน

    ในแง่หนึ่งอาจทำให้ระบบสามารถจำแนกทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถที่จะก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติในอนาคตได้ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการก่อให้เกิดความเหลื่อม ล้ำ (inequalities) และไม่เท่าเทียมกันในสถานศึกษา อาจนำไปสู่การกีดกันการแสดงศักยภาพของเด็กนักเรียน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงศักยภาพในเชิงวิชาการเท่านั้น และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เจตนารมณ์แของรัฐต่อการวางรากฐานการศึกษาอยู่บนหลักของ การศึกษาเพื่อให้ประชาชนกลายเป็นผู้ใต้ปกครอง มิใช่การศึกษาที่จะ Democratize หรือ Civilize สำนึกประชาชน

    ซึ่งนอกจากระบบการศึกแล้ว ระบบครอบครัว สังคม ในระดับที่ใหญ่ขึ้นมา ล้วนมีการใช้อำนาจไปลิดรอน และจำกัดอำนาจของประชาชนที่พึงมีพึงได้ในระบอบที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย ทำให้กระบวนคิดของประชาชนขาดสำนึกทางด้าน มีสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไปโดยปริยาย ซึ่งหากเป็นในประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและสหรัฐอเมริกา สิทธิที่กล่าวมานี้ถือเป็นสิทธิแห่ง “มนุษยชน (Human Rights) และพลเมือง” (Civil Rights) ที่มิอาจขาดหายไปได้ในระบอบการปกครองสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบเสรีประชาธิปไตย

    ถึงแม้ประชาชนสิงคโปร์จะไม่อาจมีสิทธิ เสรีภาพบางอย่างได้อย่างเต็มที่ แต่รัฐบาลเองก็ยังคงใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวชูโรงทางนโยบาย ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคม เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาและการต่อต้าน (Resistance) ตลอดจนความไม่พอใจของประชาชนได้อย่างแข็งขัน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การอ้างความชอบธรรมของ “เจตนารมณ์/เหตุผลแห่งรัฐ” ของรัฐบาลสิงคโปร์ยังสามารถดำรงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน

  21. วัชราพร คงศิริปัญญา says :

    จากการที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้สะท้อนได้ในหลายๆประเด็นของสิงคโปร์ กล่าวคือ จะเห็นได้ว่าสภาพสังคมในสิงคโปร์นั้นมีการแข่งขันกันสูงมาก และพ่อแม่ ผู้ปกครองนั้นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานเป็นอย่างมาก รวมทั้งด้านภาครัฐเองก็ได้ให้ความสำคัญในด้านนี้เช่นเดียวกัน และตัวภาครัฐเองก็เป็นเหตุที่ทำให้คนต้องยิ่งแข่งขันกันภายใต้ระบบการแข่งขันที่รัฐสร้างขึ้นมานี้ และการแข่งขันเพื่อให้ได้ไปสู่จุดที่สูงสุดของสังคม หรือห้องที่เรียนดีสุดนี่เองที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดการกดขี่ทางชนชั้นเกิดขึ้น และจากการที่มีการกำหนดเกณฑ์ในการวัดระดับความสามารถการเข้าสู่ห้องเก่งตามที่รัฐกำหนดว่าจะต้องเก่งคำนวณ ภาษาอังกฤษนั้น อาจจะทำให้เกิดการมองข้ามความสามารถที่แท้จริงของเด็กก็เป็นได้ และเป็นการทำให้เด็กนั้นไม่สามารถที่จะกล้าแสดงออกแตกต่างไปจากกรอบที่สังคม ครอบครัว กำหนดขึ้นมา

    นอกจากนี้ยังจะเห็นได้ว่า ในสังคมของสิงคโปร์ ก็มีการให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก ดังจะเห็นได้จากตัวละครที่คิดว่าการพูดภาษาอังกฤษได้ดีนั้นจะทำให้สามารถประสบความสำเร็จได้ดีกว่าคนอื่นที่พูดไม่ได้ และจากประเด็นนี้ก็สามารถโยงมาถึงการเปิดรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ หรือตะวันตกมามากขึ้น นอกจากการใช้ภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวางก็มีการรับเอาสินค้ามาบริโภค จัดจำหน่ายมากขึ้นด้วย

    ประเด็นสุดท้ายที่จะหยิบยกมากล่าวก็คือ ในบางครั้ง บางสิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองชี้นำทางให้ ตีกรอบไว้ให้ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดี ที่เหมาะกับเราที่สุดเสมอไป ซึ่งจะเห็นได้จากในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างชัดเจน

    นางสาววัชราพร คงศิริปัญญา
    ๕๓๔๑๒๕๔๕๒๔

Leave a reply to PRANCHALEE KEEREEWET Cancel reply